วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2551

บทนำ
ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำนา อาชีพการทำนาจึงเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแถบนี้มาเป็นเวลานาน และมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งส่งผลให้สังคมวัฒนธรรมของชาวบ้านในดินแดนแถบนี้มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น การประกอบอาชีพทำนาในอดีตเป็นการทำเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวันเป็นหลัก เมื่อความเจริญของบ้านเมืองเข้ามาทำให้รูปแบบการทำนาแบบเดิมได้เปลี่ยนไปเพื่อการค้ามากยิ่งขึ้น แม้ว่าปัจจุบันการทำนาแบบดั้งเดิมจะลดน้อยลงไปมากแต่ก็ยังมีอยู่

การทำนาของชาวบ้านในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีรูปแบบและวิธีการสืบทอดจากอดีตถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพทำนายังมีความเชื่ออยู่ว่านอกจากอาศัยวิธีการ เทคโนโลยี เครื่องมือเครื่องใช้สมัยใหม่แล้ว ยังต้องมีความเชื่อและพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพื่อให้การทำนาประสบผลสำเร็จและเพื่อให้เกิดความสบายใจ โดยชาวบ้านเชื่อกันว่าการจะทำให้ทำนาให้ได้ผลดีนั้นจะต้องให้ความเคารพ และต้องระลึกถึงพระคุณของแม่โพสพ หรือการทำขวัญข้าว นั่นเอง

การทำขวัญข้าว ตามประวัติบอกเล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณของชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดมีปัญหาถามว่าระหว่างพระพุทธเจ้ากับแม่โพสพนั้นใครจะมีบุญคุณมากกว่ากัน ต่างก็มีการถกเถียงกันผลที่สุดมนุษย์ก็ให้แม่โพสพเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แม่โพสพทั้งเสียใจและน้อยใจเป็นอย่างมากพลางกล่าวว่า “ตั้งแต่งรักษามนุษย์มา มนุษย์ได้มีข้าวกิน ถึงแม้ว่าสิ่งอื่น ๆ จะมีพระคุณ แต่แม่โพสพก็ไม่ควรที่จะพ่ายแพ้แก่ใคร ๆ “ กล่าวจบ แม่โพสพก็หลีกหนีไปอาศัยอยู่ที่ภูเขาทบกัน ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านต่างก็พากันได้รับความเดือดร้อน ร้องห่มร้องไห้ เนื่องจากต้นข้าวเมล็ดลีบเสียหายหมด เกิดความอดอยากขาดแคลนอาหารไปทั่วทุกหนทุกแห่ง จนกระทั่งมีสัตว์ 2 ตัว คือปลาสลาดและนกคู้ลารับอาสาไปรับแม่โพสพที่ภูเขาทับกัน ปลาสลาดสมัยก่อนลำตัวจะกลม แต่พอเดินทางเข้าไปคาบเอาแม่โพสพซึ่งเป็นช่วงที่ภูเขากระทบกันพอดีและทับเอาลำตัวปลาสลาดจนตัวแบน จากนั้นปลาสลาดก็คาบเมล็ดข้าวหรือแม่โพสพออกมาพ้นจากภูเขาทบกันได้ นกคู้ลาจึงฉวยโอกาสแย่งคาบเมล็ดข้าวพาบินหนีมาจนมาถูกพายุใหญ่ก็ขอร้องให้ช่วย ปลาสลาดซึ่งว่ายน้ำตามมาทันพอดีขณะที่นกคู้ลาอ้าปากจะขอช่วยทำให้เมล็ดข้าวหล่นออกจากปากของนกคู้ลา ปลาสลาดก็รับไว้แล้วคาบมาจนกลับมาถึงที่เดิมนำมามอบให้พระพุทธเจ้าแจกจ่ายให้ประชาชนนำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อไป ตั้งแต่น้ำมามีการทำขวัญข้าวเพื่อรำลึกถึงบุญคุณของแม่โพสพสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน และปลาสลาดก็มีลำตัวแบนมาจนถึงบัดนี้ และสิ่งหนึ่งที่เป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดีถึงการสืบทอดพิธีกรรมดังกล่าวคือ การบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรลงในหนังสือบุดเพื่อใช้สืบทอดและเป็นบทสวดในการประกอบพิธีกรรม ดังเช่นบทสวดที่ผู้เสนอรายงานทำการปริวรรตฉบับนี้

ภูมิหลังวรรณกรรมลายลักษณ์ของชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ที่คงเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้ อยู่ในสภาพชำรุดฉีกขาดหรือลบเลือนเป็นส่วนใหญ่ ที่คงสภาพสมบูรณ์มีประมาณไม่ถึง 10 เปอร็เซนต์ หนังสือดังกล่าวอยู่ในรูปของหนังสือบุดบ้าง ใบลานบ้าง แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือบุด เพราะใช้บันทึกเรื่องราวทุกประเภท ไม่เหมือนใบลานที่นิยมเรื่องราวทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอภิธรรม

คำว่า “บุด” น่าจะมาจากภาษาสันสกฤตว่า “ปุส.ตก” ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า “โปต.ถก” ในภาษาเดิมหมายถึง หนังสือ ผ้า เปลือกไม้และการฉาบทาและคำว่า “ปุส.ตก” หรือบุดของภาคใต้น่าจะเป็นรากคำที่ร่วมกันกับสมุดของภาคกลาง ซึ่งเดิมหมายถึงหนังสือ หรือตำราอย่างที่ใช้กันอยู่ในคำว่า “หอสมุด” หรือ “สมุดไทย” เป็นต้น อีกนัยหนึ่ง “บุด” อาจมาจาก “ปุฏ” ซึ่งเป็นคำสันสกฤต แปลว่า พับ หนังสือบุดภาคใต้ก็เป็นสมุดพับ จึงอาจแปรรูปกันมาได้


หนังสือบุดมี 2 ประเภท คือบุดดำและบุดขาว บุดดำเป็นหนังสือที่จารอักษรสีขาว หรือเหลืองลงบนกระดาษสีดำ ส่วนบุดขาวเป็นการจารอักษรสีดำลงบนกระดาษสีขาว ตัวอักษรอาจเป็นได้ทั้งไทยและขอม

การทำหนังสือบุดเท่าที่ทราบมี 2 วิธี คือ กะเทาะเปลือกข่อย แล้วเอาผิวนอกสีเขียวออกด้านในไม่ให้ติดกระพี้ไม้ เอามาบดหรือตำให้ค่อนข้างละเอียดแต่ไม่ถึงกับเป็นผง ผสมกับยางไม้ที่มีเมือกเหนียว คลุกเคล้าให้เข้ากันเป็นอย่างดี แล้วเทลงในพิมพ์ไม้ที่ขุดไว้ตามขนาดของสมุดไทยที่ต้องการ ทั้งส่วนกว้างและส่วนยาว ในด้านความหนานั้นก็หนอดเทข่อยผสมลงไปตามความต้องการ หลังจากนั้นก็ใช้ลูกกลิ้งบดหรือรีดให้สนิทแน่น ทิ้งไว้ชั่ววันชั่วคืนก็แห้งแคะออกจากเบ้าพิมพ์ไปตากให้แห้งก็ใช้การได้ นี่เป็นวิธีหนึ่ง อีกวิธีหนึ่ง จะนำเอาเถาไม้ปริดหนา (กริดหนา) มาตำให้ละเอียด ละลายน้ำแล้วละเลงบนผ้า ผึ่งแดดเอาไว้จนแห้งสนิทนำมาลอกออกเป็นแผ่นสีขาว ถ้าต้องการบุดดำก็เอาเขม่าทาแล้วเอาลูกสะบ้าขัด เพื่อให้เนื้อกระดาษเรียบและแน่น หลังจากนั้นก็นำมาพับเป็นแผ่นๆ ขนาดกว้าง 1 คืบ ยาว 1 ศอกกำ ความหนาของกระดาษแต่ละแผ่น หนากว่ากระดาษธรรมดาเล็กน้อยส่วนความหนาของหนังสือแล้วแต่ความต้องการของผู้ทำ ถ้าต้องการหนาเท่าไรก็ใช้จำนวนหน้าเท่านั้น บางครั้งก็มีการต่อกระดาษในกรณีที่หน้าหมด แต่โดยปกติความหนาที่ใช้ประมาณ 1.5 – 2 นิ้ว วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ส่วนมากเป็นประเภทบุดขาวที่เป็นบุดดำมีน้อยกว่าประเภทแรกมาก แต่ดูจากสภาพหนังสือและอักขรวิธีใช้แล้วเห็นว่าบุดดำน่าจะมีอายุเก่าแก่กว่า
ที่มาของวรรณกรรม

หนังสือบุด เรื่อง การทำขวัญข้าว ที่ใช้ในการศึกษานี้เป็นของ นางผอม ทองญวน อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 59 หมู่ 1 ตำบลวัดขนุน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จากการสัมภาษณ์ได้ข้อมูลว่าเป็นมรดกที่ได้รับตกทอดมาจากตา ซึ่งเป็นกำนัน และในปัจจุบันชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงยังมาขอศึกษา ดูฤกษ์ยามในการทำนาอยู่
วรรณกรรมและการปริวรรต
เนื้อหาวรรณกรรม

หนังสือบุดขาวเรื่องการทำขวัญข้าวเล่มนี้ เป็นตำรารวบรวมสรรพวิชาหลายๆ ด้านไว้เป็นเล่มเดียว จากการการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีทั้งตำรายา ตำราไสยศาสตร์ ตำราดูดวง ตำราดูฤกษ์ยามการสร้างบ้าน โดยผู้จัดทำรายงานจึงได้เลือกเอาเฉพาะเรื่องที่สนใจ คือพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 3 ส่วน คือ
1. ข้อปฏิบัติในการทำนาช่วงก่อนแรกไถ
2. ข้อปฏิบัติในการทำนาช่วงแรกไถถึงเก็บเกี่ยว
3. ข้อปฏิบัติในการทำนาช่วงหลังเก็บเกี่ยว

1. ข้อปฏิบัติในการทำนาช่วงก่อนแรกไถ เป็นเรื่องของการดูดิถีฤกษ์ ดูเวลาที่เหมาะสมในการทำนาตามแบบแผนโบราณ โดยเป็นการกำหนดระยะเวลาของการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ ตามฤดูกาล การเตรียมความพร้อมก่อนหน้านาจะมาถึง เช่นดูเรื่องเครื่องไถ หว่าน ให้มีความคงทนถาวร
ตัวอย่างการดูดิถีฤกษ์ เช่น

... ...ถ้าจะแรกไถนาให้แลกวัน ๑ แรกหว่านข้าวให้แรกวัน ๖ เมื่อแรกเก็บให้เก็บวัน ๗ ถ้าจะตกกล้าให้ตกวัน ๕ วัน ๒ วัน ๓ วัน ๖ ถ้าจะให้แรกดูเคียว ถ้าจะเอาข้าวขึ้นเรือนขึ้นยุ้งในวัน ๒ วัน ๗ เมื่อแรกพันไถ ณ วัน ๒ วัน ๓ วัน ๔ เมื่อแรกข้าวไถ ณ วัน ๑...

2. ข้อปฏิบัติในการทำนาช่วงแรกไถถึงเก็บเกี่ยว แบ่งเป็นขั้นตอนและวิธีการแรกไถ แรกหว่าน แรกปักดำ การไหว้เจ้าที่นา การรวบขวัญข้าว เป็นเรื่องของการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนของการทำนา
ตัวอย่างข้อปฏิบัติในการแรกหว่านข้าว เช่น

...เอายันต์นี้กับข้าวกระโทง ๑ น้ำกระโทง ๑ ข้าวเจ็ดเมล็ดแล้วเอาดินปักลงแล้ว นางโภควดี นางธร ณีกรุงพาลี บริถิ้วตั้งหมาก ๓ คำฝากไว้ ถ้าสุกแล้วจะผูกข้าวให้เก็บใบไม้กะหลำนางกอง ๗ ใบไม้ขวัญข้าว ๗ ใบเต่าร้าง ๗ ใบย่านลิเพา ๗ ใบยอดหญ้าคา ๗ ใบกะดังบ้ายทำกะตรอม ให้ตั้งข้าวแกบริถิ้วกรุงพาลีนางธรณี มหาลาภมหาไชยไหว้เจ้าที่ทั้งนั้น เทียน ๕ และเอา เชือกควายที่ขาดติดหมวดอยู่ แล้วเอาด้าย ๙ เส้น แล้วเรียกด้วยคาถานี้ พุโทสารีบุตโตรัตตะ นังปัตจะปัตตะวีหิริยังบันจะธรรมา ๓ ที…

3. ข้อปฏิบัติในการทำนาช่วงหลังเก็บเกี่ยว แบ่งเป็นขั้นตอนและวิธีการดับลอมข้าว การทำขวัญข้าว การบูชาพระแม่โพสพ ตัวอย่างข้อปฏิบัติในการทำขวัญข้าว: บทเชิญ เช่น

... ทำขวัญข้าว ณ เรือนห้องคลัง ว่าดังนี้แล้ววันนี้วันสาภวันดี แต่งสำรับบายศรี ขอถวายแก่เทวดาทั้งหลาย ทั้งพระนารายณ์พรพุทธขิเนก เอกพระพุทธขินาย พระกัจจายเถนพระบริเมนสวน ผู้เป็นใหญ่แก่เทวดา ทั้งหลายก็ชุมนุมกันทั้งแปดสิบโกฏิ ในท้องสรวงสวรรค์คิดกันที่จะตั้ง แผ่นดินและแผ่นฟ้าครอบจักรวาล ธ จึงแต่งเนื้อปลาอาหาร ที่จะเลี้ยงฝูงมหาพรหม อันเกิดเป็นมนุษย์ทั้งหลาย ทั่วแหล่งหล้าเทวาคิดกัน จึ่งตั้งพระธรณีไว้ โอมชัยๆ ไกรบวรนมัสการ ยารณสัมพุทธอุดมบังคมที่กล่าว...
1. วิถีชีวิต

วรรณกรรมท้องถิ่นประเภทหนังสือบุดเล่มนี้ จากการสัมภาษณ์เจ้าของและศึกษาเนื้อหาของที่ปรากฏตามตำรา พบว่าเอกสารฉบับนี้อายุไม่ต่ำกว่า 150 ปี และปัจจุบันพิธีกรรมตามตำราเล่มนี้ก็ยังมีการใช้อยู่ แสดงให้เห็นว่าอาชีพการทำนาเป็นอาชีพหลักในดินแดนแถบนี้มาเป็นเวลานาน ชาวบ้านให้ความเคารพและนับถือในขวัญข้าว เชื่อว่าข้าวมีแม่โพสพสิงสถิตย์อยู่ การทำนาในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะก่อนไถ แรกไถ การเก็บเกี่ยว หรือหลังการเก็บเกี่ยวจะทำด้วยความนอบน้อมต่อแม่โพสพและเทพยดาต่างๆ นอกจากนี้ยังสะท้อนเอกลักษณ์และขั้นตอนการทำนาที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย เช่นมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย “แกะ” โดยเก็บข้าวทีละรวง ก่อนเก็บหากข้าวไม่ล้ม ก็ต้องใช้”ไม้ข่ม” ทำด้วยไม้ไผ่ขนาดต้นแขน ยาวประมาณ 2 วา นาบลงบนข้าวให้ล้มเพื่อความสะดวกในการเก็บ จากนั้นเมื่อได้ 1 กำมือ ก็นำมามัดด้วยคอซังเรียกว่า “เลียง” จากนั้นก็นำผึ่งแดดเพื่อลดความชื้นและจัดลง “แสก” (สาแหรก) คอน กลับบ้านเพื่อนำเลียงข้าวไปดับบนลอม รอการนวดต่อไป เป็นต้น
2. ความเชื่อ

คนไทยเราไม่ว่าจะอยู่ภาคไหน พื้นที่ใด ล้วนมีความผูกพันกับเรื่องความเชื่อมาช้านาน เช่น เชื่อเรื่องโชคลาง เชื่อเรื่องฤกษ์ยาม และการดำรงชีวิตตลอดจนถึงการประกอบอาชีพ เช่น การทำนานั้นก็มีความเชื่ออยู่เช่นกัน ผู้จัดทำรายงานจึงได้ศึกษาความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในตำราการทำขวัญข้าว โดยจะแบ่งประเภทของความเชื่อเป็น 2 ประเภท คือ
1. ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา
2. ความเชื่อพื้นบ้าน

2.1 ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา
ศาสนาพุทธนั้นมีความเชื่อว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หมั่นทำความดีจะได้ขึ้นสวรรค์ ถ้าทำความชั่วจะตกนรก” และความเชื่ออันเนื่องมาจากศาสนาย่อมมีผลไปถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ในสังคม และเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของคนในสังคมด้วย ในตำราการทำขวัญข้าว แม้จะไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแต่ก็สะท้อนให้เห็นความเชื่อในเรื่องพระพุทธศาสนาที่เข้ามามีบทบาทและผูกพันกับวิถีชีวิตที่ฝังรากลึกและแนบแน่น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์จะมีบทสวดหรือการกล่าวอ้างถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ การบูชาพระรัตนตรัย การอัญเชิญพระอรหันต์ ร่วมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ด้วยเสมอ เช่น
ความเชื่อพิธีกรรมการนำข้าวลงจากลอม

... ถ้าจะทำขวัญข้าวจะผูกข้าวเอาผ้าขาวโบกแปดทิศ ให้ว่า มา ๆ แม่มาๆ เจ้ามาๆ สัมมาๆ ชัมมาๆ อย่าด้วยข้าอย่าไคลอย่าคลา อย่า ไปจากจากข้าอย่าคลาจากห้อง อยู่ในพระคลังกูสั่งอย่าลืม อยู่แม่อยู่ๆ พุทธังรัตตะนัง ทำมะรัตตะนัง สังคะรัตตะนัง เมื่อผูกแล้วให้เอาพุดซ้อน ๑ ใบขวัญข้าว ๑ ห่อนางสีดา ๑ ชตอก ๑ หลัมนางกอง ๑ ยาทั้งนี้เครียวฟั่นประกอบลอมข้าวแล...

การทำขวัญข้าว: บทเชิญ

... ทำขวัญข้าว ณ เรือนห้องคลัง ว่าดังนี้แล้ววันนี้วันสาภวันดี แต่งสำรับบายศรี ขอถวายแก่เทวดาทั้งหลาย ทั้งพระนารายณ์พรพุทธขิเนก เอกพระพุทธขินาย พระกัจจายเถนพระบริเมนสวน ผู้เป็นใหญ่แก่เทวดา...


2.2 ความเชื่อพื้นบ้าน

ความเชื่อพื้นบ้านนั้นเป็นความเชื่อที่มีปรากฏในท้องถิ่นต่างๆ และความเชื่อบางอย่างได้มีการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง “ลักษณะที่เห็นเด่นชัดของความเชื่อพื้นบ้าน คือการที่คนเชื่อถือโดยมิได้อ้างระบบเหตุผลเป็นพื้นฐาน ทั้งนี้มิได้หมายความว่าความเชื่อพื้นบ้านเป็นความเชื่อที่ขาดเหตุผล หากเราวิเคราะห์หาเหตุผลเบื้องหลังเราอาจจะพบเหตุผลที่แฝงเร้นอยู่” เช่น ห้ามพูดจาเวลาหาบข้าวขึ้นลอม แต่ถ้าศึกษาดูแม้เพียงจากสามัญสำนึกก็จะเห็นว่าหากหยุดพูดคุยระหว่างทางในการขนข้าวขึ้นลอมจะทำให้เสียเวลาและเหนื่อยมากขึ้น เป็นการประหยัดพลังงานนั่นเอง จากการศึกษาตำราการทำขวัญข้าวพบว่า ในตำรามีความเชื่อพื้นบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อเรื่องเคล็ดข้อห้ามต่างๆ ดังจำแนกประเภทได้ดังนี้

2.2.1 ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์
2.1 ความเชื่อเรื่องดิถีฤกษ์
ความเชื่อทางโหราศาสตร์เรื่องเดียวที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรม ความเชื่อเรื่องดิถีฤกษ์ของคนไทย มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ การจะทำการมงคล จะต้องมีการดูฤกษ์ก่อนทุกครั้ง เพื่อกำหนดวันเวลาที่เหมาะแก่การประกอบพิธีมงคลนั้นๆ โดยไม่รีบด่วน เป็นการพิจารณาดูวัน เวลา สถานที่ บุคคล และสิ่งของเครื่องประกอบการทั้งหลาย โดยถี่ถ้วนว่าไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง เรียกว่า “ฤกษ์ดี” แต่ถ้าเห็นว่ามีอะไรบางอย่าง หรือหลายอย่างยังไม่พร้อมเรียกว่า “ฤกษ์ไม่ดี” ในตำราการทำขวัญข้าว ได้กล่าวถึงการดูดิถีฤกษ์ไว้ว่า

ความเชื่อเรื่องดิถีฤกษ์:ก่อนแรกไถ

...ถ้าจะแรกไถนาให้แลกวัน ๑ แรกหว่านข้าวให้แรกวัน ๖ เมื่อแรกเก็บให้เก็บวัน ๗ ถ้าจะตกกล้าให้ตกวัน ๕ วัน ๒ วัน ๓ วัน ๖ ถ้าจะให้แรกดูเคียว ถ้าจะเอาข้าวขึ้นเรือนขึ้นยุ้งในวัน ๒ วัน ๗ เมื่อแรกพันไถ ณ วัน ๒ วัน ๓ วัน ๔ เมื่อแรกข้าวไถ ณ วัน ๑...

ความเชื่อเรื่องดิถีฤกษ์:ก่อนแรกหว่าน

...โอมสารพัดสวาหาย ๓ ที อันนี้แรกเอาปลูกลงนาลงไร่เดือนขึ้นค่ำ ๑ เดือนลิบรองรอง แมงลีบลีบแมงลีบลองลีบ รองแมงลีบ ลีบ แมงรวง
แรม ลีบลีบ รวงรวง ลีบ รวง ลีบแมงลีบ รวงลีบลีบ ลีบแมงรวงรวงรวง
๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐ ๑๑ ๑๒ ๑๓ ๑๔ ๑๕…

2.2.2 ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์
- ความเชื่อเรื่องคาถาอาคม
ความเชื่อประเภทเวทมนตร์คาถานั้นมีอยู่ควบคู่กับการการดำรงชีวิตของชาวบ้านแถบนี้มาตั้งแต่ในอดีต การศึกษาตำราการทำขวัญข้าวจากหนังสืบุดพบว่า มีการใช้ คาถาประกอบในการทำนาเกือบทุกขั้นตอน คาถาแต่ละคาถามีการปรากฏตามระยะการทำนาในแต่ละช่วงแตกต่างกัน บางช่วงของการทำนามีการใช้คาถากำกับเพียงคาถาเดียว แต่ก็มีบางช่วงที่มีการใช้คาถาร่วมกันหลายขนาน โดยการบันทึกจะไม่ปรากฏชื่อคาถา มีทั้งบันทึกเป็นอักษรไทยและอักษรขอม โดยเชื่อกันว่า หากใช้คาถาอาคม การใช้ยันต์ หรือการลงอักขระต่างๆ จะทำให้การทำนานั้นประสบผลสำเร็จ แมลง สัตว์ต่างๆ ไม่รบกวนไร่นา ไร่นาได้รับการคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น คาถาที่ปรากฏในตำราการทำขวัญข้าว จะปรากฏทั้ง ในบทบริกรรมและยันต์ต่างๆ ได้แก่

การใช้คาถาอาคมลงเลขยันต์
การทำขวัญข้าว

...นะสีสะนาโคอะปัดโยคยะสุขคะสัมปัด คาถานี้ ๓ คาบแล้วย่างมาเข้ามาให้ถึงที่ผูกขวัญข้าว มารับพะยัง ๆ ๓ คาบ กุมต้นข้าวจึงว่าคาถานี้ มะอะอุพรหมมานี้มา ๆ นางโพสีมาแม่มา หังหุหังโคอับ ปะมาโนสามทีมาๆ อาคัดฉาหิ ...

การผูกเลียงข้าว

...เมื่อจะเก็บจะหยิบเลียง พุทธะรักสาอะหังโคยะ อุไสยกะชีวามาจุติมา ๆ นี้คาถานี้บริกำเมื่อทูนขวัญข้าวมาเรือน พุท ทัง สัง มาถึงเรือนผูกตัวอู เก็บ ๔ เลียงมาด้วยเอาเป็นคู่ขวัญข้าวขึ้นเรือน...

การลงอักขระ
ความเชื่อพิธีกรรมการเสี่ยงทางความงอกของเมล็ดข้าว

... ให้เอาข้าว ๗ พันธุ์ให้ตวงเท่ากัน แล้วเอาผ้าขาวห่อไว้ คนแห่งแล้วเอาผ้าขาวดัดเพดาน แล้วเอาด้ายสายสิญจน์วงไว้แล้วเอาน้ำมันจอก ๑ เทียนเล่ม ๑ ...แล้วเอา อะอะอะ ยันต์นี้ลงหินฝน อะอะอะ แล้วจึงเอา อะ ตัวนี้เสกหน้าหินแล้วจึงเอาน้ำมัน ล้างยันต์หน้าหินนี้แล เอาคนการด้วยข้าวปลูก ให้ทำสามวันครั้นถึง ๓ วันจึงดูข้าว ถ้าข้าวได้มากให้เอาข้าวนั้นเป็นต้น…

2.2.3 ความเชื่อเรื่องการทำบัตรพลี
ตามตำรามีการกล่าวถึงการบูชาแม่โพสพ เทพยดา หลายองค์ รวมทั้งภูมิเจ้าที่ สะท้อนความเชื่อว่าทุกหนทุกแห่งมีสิงศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์รักษาอยู่ การกระทำการใดๆ ต้องมีความนอบน้อม ให้ความเคารพ มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดโทษการทำไร่นาไม่ประสบผลสำเร็จ จึงต้องมีการเซ่นสรวง บูชา ซึ่งทำให้ทั้งเทพยาดาและแม่โพสพพอใจ และจะอำนวยพร รวมทั้งปกปักรักษาให้การทำนาได้รับผลผลิตที่ดี ตัวอย่างดังนี้

การทำบัตรพลีก่อนการหว่านข้าว

...ตูข้าตกแต่งย้อมเครื่องตระการ เสร็จจงมาอย่านาน มาเอาเครื่องสังเวย เหล่าข้าวถั่วงาสุกดิบสาพลา ขนมนมเนย โทกเทียนชวาลา ข้าวตอกดอกไม้ ข้ายอมแต่งมา โภชนาอาหาร ขอเชิญท้าวท่านๆ กรุงพาลีมาเอาสังเวย...

2.2.4 ความเชื่อเรื่องของมีค่าร่วมทำพิธี
การนำของมีค่าคือทองร่วมในพิธีกรรมนั้นเป็นการไหว้หรือบูชาครู และเทพยาดา เพราะเชื่อว่าการนำของมีค่าร่วมพิธีเป็นการแสดงความยกย่อง เทิดทูน และจะทำให้เกิดความพอใจ จะส่งผลทำให้พิธีกรรมมีประสิทธิภาพ และอานุภาพมากยิ่งขึ้น ความเชื่อเรื่องทองในพิธีการทำขวัญข้าว มีปรากฏ ดังนี้

การทำขวัญข้าว: อุปกรณ์ในพิธีกรรมการทำขวัญข้าว

...จึงตั้งกำแพงแล้วอาคมอัญเชิญขวัญแม่เอย มาชมเครื่องข้าวหนม ข้าวเหนียวสังเหว้ย กะทินมเนย ข้าวขวัญทำขวัญทำ.... มาชมแก้วแหวน อันงามประไพ หัวแหวนสุกใส เครื่องทองรองรับ...

2.2.5 ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน โดยเฉพาะเรื่องเทพเจ้าเทวดา ตลอดจนถึงภูตผีปีศาจต่างๆ ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ซึ่งเป็นเทพยดาของศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อเหล่านี้ก็มีปรากฏอยู่ในตำราการทำขวัญข้าว ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในตำราการทำขวัญข้าวฉบับนี้ได้กล่าวถึงเทพยาดาท้องถิ่น เช่น พระแม่โพสพ แม่โพสี บริถิ้ว พระพุทธขิเนก พระพุทธขินาย สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อว่าสรรพสิ่งมีเทพยาดารักษาอยู่ การที่จะทำนาให้ได้ผลนั้นจะต้อง บอกกล่าว บูชา และอัญเชิญเทพยดาต่างๆ เพื่อให้อนุญาตและปกปักรักษา รวมทั้งคุ้มครองให้การทำไร่นาได้รับผลดี
ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและเทวดาเทพเจ้าและเทวดาที่ปรากฏในตำราการทำขวัญข้าวได้แก่
1. พระพรหม 2. นางโพสี 3. นางไสยสี 4. ภูมิเจ้าที่ 5. ท้าวกรุงพาลี 6. นางโภควดี 7. นางธรณี 8. พระสารีบุตร 9. พระนารายณ์ 10. พระพุทธขิเนก 11. พระพุทธขินาย 12. พระกัจจายเถน 13. พระบริเมนสวน 14. คนธรรพ 15. พระพาย 16. พระอังคาร เช่น

การแรกหว่านข้าว

…เอายันต์นี้กับข้าวกระโทง ๑ น้ำกระโทง ๑ ข้าวเจ็ดเมล็ดแล้วเอาดินปักลงแล้ว นางโภควดี นางธร ณีกรุงพาลี บริถิ้วตั้งหมาก ๓ คำฝาก..... ให้ตั้งข้าวแกบริถิ้วกรุงพาลีนางธรณี มหาลาภมหาไชยไหว้เจ้าที่ทั้งนั้น…

การทำขวัญข้าว: บทเชิญ
... ว่าดังนี้แล้ววันนี้วันสาภวันดี แต่งสำรับบายศรี ขอถวายแก่เทวดาทั้งหลาย ทั้งพระนารายณ์พรพุทธขิเนก เอกพระพุทธขินาย พระกัจจายเถนพระบริเมนสวน ผู้เป็นใหญ่แก่เทวดา…

2.2.6 ความเชื่อเรื่องเคล็ดและข้อห้าม
มีปรากฏเพียงเรื่องเดียวคือในช่วงการนำข้าวจากทุ่งนาขึ้นยุ้งหรือลอมข้าวห้ามเจรจากับใครเพราะเชื่อว่าหากเจรจาแม่โพสพจะไม่พอใจและหนีหายไปไม่คุ้มครองข้าวในยุ้งฉางหรือในลอม สิ่งที่ตามมาคือจะถูกนก หนู มอด ปลวก สัตว์ต่างๆ กัดกินทำลายให้ได้รับความเสียหาย

การนำข้าวขึ้นเรือน

...พุทธะรัตตะนังธรรมะรัตตะนัง สังคะรัตตะ รัดข้าวมาคือเชียกอุเชือกผูกแล้วฉีกข้าว ๙ รวงแล้วเก็บเก้าเลียงน้อยๆคู่ขวัญข้าวนั้นมาแล้ว วามะๆ คุมถึงเรือนอย่าเจรจาเหลย ...
3. พิธีกรรมที่ปรากฏในตำราการทำขวัญข้าว

พิธีกรรม หมายถึงการกระทำที่มีแบบแผนมีขั้นตอน โดยมุ่งให้บรรลุจุดประสงค์ของผู้จัดพิธีกรรม ลักษณะการกระทำที่เป็นพิธีการย่อมจะสะท้อนแนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำ 2 ประการ คือ

1) แนวคิดเกี่ยวกับจิตใจ กล่าวคือพิธีกรรมเป็นสิ่งที่ผู้กระทำรับรู้หรือสัมผัสด้วยใจว่า สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมมีตัวตนจริง เช่น พิธีการทำขวัญข้าวเพราะเชื่อว่าแม่โพสพมีอยู่จริง จะคอยปกปักรักษาข้าวให้อุดมสมบูรณ์ เป็นต้น นอกจากนี้พิธีกรรมยังก่อให้เกิดความเชื่อมั่น ซึ่งทำให้ผู้ประกอบพิธีมีจิตใจที่มั่นคงปลอดโปร่ง และเข้มแข็งขึ้น มนุษย์จึงสร้างสรรค์พิธีกรรมขึ้นเพื่อให้สามารถกระทำกิจกรรมต่างๆ ให้บรรลุผลตามความต้องการได้

2) แนวคิดเกี่ยวกับสัญลักษณ์ ในพิธีกรรมต่างๆจะประกอบด้วยเครื่องบูชาและผู้ประกอบพิธีซึ่งจะแสดงกิริยาท่าทางและถ้อยคำ องค์ประกอบต่างๆนี้สื่อความหมายของพิธีกรรม ทำให้ผู้ร่วมพิธีกรรมเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของการจัดพิธีกรรมขึ้นมา นอกจากนี้ยังเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม และแนวทางการดำเนินชีวิต

3.1 พิธีไหว้และทำขวัญแม่โพสพ

การไหว้และทำขวัญแม่โพสพ
เกือบทุกขั้นตอนของการทำนา ชาวบ้านต้องรำลึกถึงแม่โพสพ เริ่มตั้งแต่การหว่านข้าวก็ต้องหาวันดี พันธุ์ข้าวต้องแบ่งส่วนจากข้าวขวัญอันเป็นขวัญแห่งแม่โพสพ ก่อนถอนต้นกล้าไปปักดำต้องขอขมา ตอนเริ่มปักดำต้องเชิญขวัญมาอยู่รากอยู่กอ ข้าวออกรวงอร่ามต้องรวบข้าว ผูกขวัญไว้ เก็บเกี่ยวแล้วต้องทำขวัญข้าวครั้งสำคัญ และเมื่อรื้อข้าวลงจากกองมานวดทุกครั้งก็ต้องขอขมาลาโทษ ในทุกขั้นตอนที่ว่านี้การทำขวัญเป็นการแสดงออกต่อแม่โพสพที่เป็นพิธีรีตรองมากที่สุด ทั้งนี้ในการและทำขวัญแม่โพสพนั้น ต้องจัดเตรียมเครื่องบูชา ดังนี้

1. บายศรีปาก ในบายศรีปากชาม 2. หัวหมู จำนวน 1 หัว หรือมากกว่านั้น 3. ขนมต้มแดงขนมต้มขาว 4. มะพร้าวอ่อน จำนวน 3 ลูก 5. ผลไม้ต่างๆ มักจะนิยมจัดวางให้เป็นเลขคี่ 3 5 7 หรือ 9 อย่าง 6. ข้าวตอก ถั่ว งา 7. ดอกไม้ 7 อย่าง 8. อาหารคาว 3 7 9 หรือ 12 อย่าง 9. หมาก พลู บุหรี่ 10.อาหารหวาน มักจะใช้ขนมที่มีชื่อมงคล 11. ผ้าขาว ใช้ผ้าขาวขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัส 12. อุปกรณ์ที่ใช้ทำนา หรือซากสัตว์ เช่น เชือกวัวขาด คราด ไถ เป็นต้น 13. ข้าวจากทุ่งนา แทนข้าวทุกพันธุ์ การตั้งเครื่องบูชาอาจตั้งมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสะดวกของหมอแต่ละท่าน

ในการทำพิธีจะนำข้าวเลียง ดอกไม้ธูปเทียน และอุปกรณ์ต่างๆ มาวางบนโต๊ะพิธี เอาแหวนผูกด้ายวงล้อมรอบขวัญข้าว วางสายสิญจน์รอบเครื่องบายศรีและเครื่องบูชาในพิธี แล้วสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย พิธีสงฆ์) หมอทำขวัญกล่าวชุมนุมเทวดา ไหว้สัดดี ตั้งนะโม 3 จบ เปิดกรวยบายศรี จุดเทียนชัยและแหล่บททำขวัญข้าว จากนั้นหมอทำขวัญว่าคาถาปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้แม่โพสพอยู่ประจำยุ้งข้าวเป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนั้น ก็จะนำข้าวที่ผ่านการทำพิธีเสร็จแล้วกลับไปบ้านเพื่อเก็บไว้เป็นสิริมงคลและเก็บไว้หว่านร่วมกับข้าวปลูกในครั้งต่อไปโดนเชื่อว่าจะทำให้ข้าวบริบูรณ์ได้ผลดี

ตัวอย่างบทแหล่ทำขวัญข้าว

... อัญเชิญขวัญแม่เจ้าอย่าถือโทษ บากหน้ามาอัญเชิญขวัญแม่มา อยู่สำราญใจอย่าสะดุ้งตกใจ อยู่ในยุ้งตระการกูดัดเพดาน ผาลายลาดแล้วตั้งแต่ง กู จึงตั้งกำแพงแล้วอาคมอัญเชิญขวัญแม่เอย มาชมเครื่องข้าวหนม ข้าวเหนียวสังเหว้ย กะทินมเนย ข้าวขวัญทำขวัญทำขวัญ หมากพลูจีบสับ ขวัญแม่ทั้งปวง ขวัญข้าวขุนหลวง ข้าวพวงตั้งเต ข้าวทรวงสาย อีกข้าวพวงหวาย ...... มาเถิด ณ ขวัญเอย...

3.2 พิธีไหว้และบัตพลี เทพยาดาและพระภูมิเจ้าที่

การไหว้และบัตพลี พิธีไหว้เทพยาดาและพระภูมิเจ้าที่
การทำนาทุก ๆ ปี เริ่มตั้งแต่หว่านข้าวจนถึงขั้นเก็บเกี่ยวนั้นมักจะมีสัตว์ต่าง ๆ เช่น นก หนู หรือแมลงต่าง ๆ มากัดกินทำลายต้นข้าวให้เสียหายทำให้ชาวบ้านประสบความเดือดร้อน ด้วยเหตุนี้จึงต้องหาทางป้องกัน ชาวบ้านเชื่อว่ายังมีสิ่งเร้นลับในธรรมชาติโดยเฉพาะ เทพยดา พระภูมิเจ้าที่ซึ่งเป็นเทวดารักษาสถานที่ต่าง ๆ เช่น เทวดารักษาประจำที่นาจะช่วยป้องกันรักษาไร่นาให้การทำนาได้ผลดีตามต้องการและเพื่อความสวัสดิมลคลแก่เจ้าของที่นาจึงเกิดพิธีกรรม ขึ้น อุปกรณ์และเครื่องประกอบพิธีมีแผงไม้ไผ่สี่เหลี่ยมขนาดกว้างยาวประมาณ 2 ฟุต ปูลาดด้วยใบตอง สำหรับว่างเครื่อง เช่น บัตรพลีซึ่งทำด้วยใบเตย นำมาเย็บเป็นรูปสี่เหลี่ยมสำหรับใส่เครื่อง เช่น 4 ใบ บัตรพลีแต่ละใบจะใส่เครื่อง เช่น บวงสรวง ซึ่งมี * ข้าวปากหม้อ ขนมแดง ขนมขาว ขนมโค ปลามีหัวมีหาง ธูป 4 ดอก เทียน 4 เล่ม หมากพลู 3 คำ เมื่อถึงเวลาประกอบพิธีหมอกลางบ้านจะนำแผงไม้ไผ่มาวางลงบนค้นนา เอาใบตองมาปูลาดบนแผงไม้ไผ่แล้ววางบัตรพลีทั้ง 4 ใบ ลงบนแผงไม้ไผ่ทั้ง 4 มุม จากนั้นหมอผู้ทำพิธีจะนั่งสมาธิ จุดธูปเทียน เสกคาถา ชุมนุมเทวดา ตั้งนะโม 3 จบ แล้วจึงสวดอัญเชิญเจ้าที่นารับเครื่องสังเวยและสวดอวยพรให้เจ้าของที่นาเพื่อขอความสวัสดีมีชัย

...โอมสิทธิการท่านท้าวภูมิเจ้าที่ท้าวกรุงพาลี หากมีฤทธิธากว่าคนนักหนา ข้าจักหารือทำไร่นา ทุกสิ่งนาๆ มีมากเนืองนอง ขอมีคลังข้าวคลังเงินทอง ข้าคนเนืองนองโดยข้าปรารถนา ข้าไหว้วันทา…

…อัญเชิญท้าวกรุงพาลี ว่าทรงนามท้าวกรุงพาลี ธ เป็นเจ้าแก่เทวดา ทั่วท้องธรณี รักษาภูมิทั่วจักรวาล ตูข้าตกแต่งย้อมเครื่องตระการ เสร็จจงมาอย่านาน มาเอาเครื่องสังเวย..
4. ภูมิปัญญาที่ปรากฏในตำราการทำขวัญข้าว

4.1 ภูมิปัญญาด้านภาษาศาสตร์ วรรณกรรมท้องถิ่นเรื่องการทำขวัญข้าวใช้ถ้อยคำง่ายๆ จะมีศัพท์บาลีสันสกฤต และขอม ปนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ยากต่อการสื่อความหมาย ส่วนใหญ่ที่เป็นบทสวดที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาจะเป็นภาษาบาลีสันสกฤต เช่น อุกาสะ อะมัง พันทะนังธิษฐามิ หรือ ในส่วนที่เป็นคาถาอาคม จะเขียนด้วยอักษรขอม และ ภาษาถิ่นใต้ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่องนี้จะเขียนเป็นสำเนียงใต้โดยใช้อักษรไทย เช่น โทกเทียน – ธูปเทียน หนมนมเน้ย – ขนมนมเนย สังเหว้ย – สังเวย งัว – วัว เป็นต้น ซึ่งการบันทึกภาษาใต้เป็นลายลักษณ์อักษร นับเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่ทำให้วรรณกรรมหรือพิธีกรรมนี้ยังคงอยู่และสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

4.2 ภูมิปัญญาด้านวรรณคดี รูปแบบการประพันธ์ ผสมผสานทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง แม้จะเป็นร้อยแก้วที่มีคาถาแทรกปนอยู่ก็มักจะมีคำคล้องจองกัน เช่น มารับพะยัง ๆ ๓ คาบ กุมต้นข้าวจึงว่าคาถานี้ มะอะอุพรหมมานี้ เป็นต้น ส่วนร้อยกรองแต่งด้วยบทประพันธ์ประเภทกาพย์ซึ่งเป็นที่นิยมของวรรรณกรรมท้องถิ่นในพื้นที่แถบนี้ กาพย์ที่ใช้แต่งคือ สุรางคนางค์ 28 (ราบ) เช่น กะไหวกอหวัก ขวัญหนีชวนชัก บัวซอนนางคลี่ ละอองสำลี บัวขาวทรายขาว ชะมัดรวงยาว ชะมุดแดงขาว

4.3 ภูมิปัญญา ด้านประวัติศาสตร์ ในเนื้อหาของบททำขวัญข้าวกล่าวถึงเมืองต่างๆอยู่หลายเมืองซึ่งเป็นประจักษ์พยานว่า ชาวบ้านในสมัยนั้นมีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์พอสมควร นอกจากนี้บางเมืองได้หายไปหรือไม่ปรากฏชื่อแล้วในปัจจุบันเนื่องจากเปลี่ยนชื่อใหม่ เช่น กรุงปราณ เมืองพริบพรี ทำให้เอกสารเล่มนี้สามารถเป็นเอกสารที่สะท้องและบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกเล่มหนึ่ง เช่น

... อยู่เมืองจีนจาม เมืองพราหมณ์นักเทศ เมืองฝรั่งเศส แลเมืองไทย เมือง เชียงใหม่ แลเมืองครุด ขวัญแม่อย่าหยุด อยู่ที่เมืองแขก แลเมืองขอมเมืองสะกอมและตานี เมืองพริบพรีแลไชยา ทุกภาษาเมืองน้อยใหญ่ เชิญแม่เร่งมา.....

....ประหนประหัง เมืองหรังไชยาตา หนิเมืองพริบพรีแลเมืองคอนหวัน เมืองจันณประเทศ เมืองฝรั่งเศสแลเมืองขอมงา เมืองสะกอมแลเมืองไทย เมืองเชียงใหม่แลกรุงปราณ เมืองภูบาลเจ้าธรณี เมืองนครศรีราชเสมา เชิญมาเถิดแม่มา…


4.4 ภูมิปัญญาด้านการเกษตร

- เป็นตำราบันทึกพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ในตำราการทำขวัญข้าวเล่มนี้ได้กล่าวถึงชื่อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองต่างๆ ไว้จำนวนมาก และเป็นพันธุ์ข้าวที่เคยปลูกกันในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ถือเป็นตำราจะบันทึกพันธุ์ข้าวเล่มหนึ่งของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้เลย และพันธุ์ข้าวบางพันธุ์ก็ยังมีการปลูกกันในปัจจุบัน เช่น ข้าวพันธุ์สังข์หยด ซึ่งนับเป็นพันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันเนื่องจากเป็นข้าวที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงโปรด ดังพระดำรัสความตอนหนึ่งว่า


"..สำหรับข้าวสังข์หยดนี้ข้าพเจ้าเพิ่งได้ไปพบที่จังหวัดพัทลุงเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และข้าพเจ้าได้นำกลับมาที่พระตำหนักทักษิณฯ แล้วหุง พอดีกับท่านนายกรัฐมนตรี เมตตาไปเยี่ยมข้าพเจ้าและท่านนายกก็รับประทานข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นข้าวซ้อมมือ แล้วนายกบอกว่าข้าวนี้อร่อย ทำให้ข้าพเจ้า มีกำลัง ใจมากและประชาชนทั้งหลายก็มีความภาคภูมิใจ นอกจากข้าวหอมมะลิ ก็ยังได้มีข้าสังข์หยดสีแดงๆ มีผู้ช่วยคิดนำข้าวกล้องหลายชนิดมาผสมกัน เพื่อหุง เป็นข้าวชนิดใหม่ที่อร่อยและมีคุณประโยชน์มากขึ้น..."

พระราชดำรัสในองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ชื่อพันธุ์ข้าวที่ปรากฏในตำรา

...ข้าวถั่วข้างฟ่าง ข้าวงาช้างแม่นมงัว ข้าวหม้อข้าวครัว ข้าวตานรับขวัญ ข้าวเหนียว ๆ หนัก ข้าวมัวๆ นัก นางกัดนางกัน สนทรีรวงรี ข้าวสีอูมมัน เข็มทองฝอยทอง นางทองอุหรัน ข้าวสีกำจิต กำพืดต่างพัน ดำเนินเชิญขวัญ ๆ ข้าวเจ้ามาปูผ้าร้องเรียก ละออลำเจียก มะลิซ้อนมะลิลา ลูกเจาๆ แคน จำปามะละกา ไข่ปลาลูกปลา แมงดามหาไชยข้าวสีกรรไตร ข้าวไสยอุหวัน ข้าว สีมะยัง นางหมุยนางดำ นางกังมันตม ชวนนางดอกซอน ปากนกต่างๆ...
.
- การเลือกช่วงระยะเวลาในการทำนา การเริ่มทำนาในช่วงเดือน ๖ และเดือน ๗
เมื่อย่างเข้าฤดูฝนช่วงเวลาดินชุ่มชื้นจะเหมาะแก่การไถ หลังจากนั้น ช่วงเวลาที่ฝนตกลงมามากก็เหมาะที่จะปักดำ เมื่อข้าวโต ออกรวง และสุก ก็จะเข้าฤดูแล้งเหมาะแก่การเก็บเกี่ยวพอดี ซึ่งล้วนแล้วที่เกิดจากการสังเกตสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น

ตัวอย่างการแสดงภูมิปัญญาในการเลือกช่วงระยะเวลาในการทำนาที่ปรากฏในตำรา

...มา ทวาดิถีทิกวาร กาลมาฆะมาเส เหมันตรฤดูเดือน ๗ วสันตฤดูดิถีสีหบวรจีรังกาลสมบูรณ์ ขวัญข้าวมากมูลก่ายกอง ทั่วท่องธรณี สีพีคนสรรพพระพาย....

4.5 ภูมิปัญญาด้านการสอดแทรกคำสอน

- ภูมิปัญญาที่สอดแทรกในความเชื่อและพิธีกรรมก่อนแรกไถ ความเชื่อที่ปรากฏอยู่เป็นความเชื่อเรื่องฤกษ์ดิถี ดูเวลาที่เหมาะสมในการทำนาตามแบบแผนโบราณ ความเชื่อเรื่องดิถีฤกษ์เป็นเรื่องของการกำหนดระยะเวลาของการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ ตามฤดูกาล และให้พร้อมเพรียงกันทั้งหมู่บ้านเนื่องจากใช้ตำราเดียวกันทำให้ทำนาพร้อมกัน ข้าวที่ได้ก็จะโตพร้อมกัน สุกพร้อมกัน ทำให้หนูและแมลงไม่รบกวน นอกจากนี้ยังแสดงถึงการรู้จัก การเตรียมความพร้อมก่อนหน้านาจะมาถึง เช่นดูเรื่องเครื่องไถ หว่าน ให้มีความคงทนถาวร โดยหลอกให้เกิดความกลัว เช่น เครื่องไถที่ชำรุดห้ามทำไปทำฟืน หรือไปไถนาจะทำให้แม่โพสพโกรธ ซึ่งความจริงแล้วคือหากนำไปใช้จะทำให้การทำงานล่าช้าและอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้

- ภูมิปัญญาที่สอดแทรกในความเชื่อและพิธีกรรมในช่วงแรกไถถึงเก็บเกี่ยว แบ่งเป็นความเชื่อและพิธีกรรมในการแรกไถ แรกหว่าน แรกปักดำ การไหว้เจ้าที่นา การรวบขวัญข้าว โดยความเชื่อเรื่องแรกไถ แรกหว่าน และแรกดำนา เป็นเรื่องของการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนของการทำนา เช่น ช่วงเวลาดินชุ่มชื้นจะเหมาะแก่การไถ ช่วงเวลาที่ฝนตกลงมามากก็เหมาะที่จะปักดำ ซึ่งล้วนแล้วที่เกิดจากการสังเกตสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ส่วนความเชื่อเรื่องพิธีกรรมการไหว้เจ้าที่นา เป็นการปลูกฝังให้รู้จักรู้คุณผู้มีพระคุณ ส่วนความเชื่อในเรื่องการรวบขวัญข้าว เป็นเรื่องของการปลูกฝังลักษณะนิสัยให้เป็นคนระมัดระวัง ละเอียดรอบคอบ ประหยัดมีความกตัญญู เป็นต้น

- ภูมิปัญญาที่สอดแทรกในความเชื่อและพิธีกรรมในช่วงหลังเก็บเกี่ยว แบ่งเป็นความเชื่อในการดับลอมข้าว ความเชื่อในการทำขวัญข้าว และความเชื่อเกี่ยวกับพระแม่โพสพ ซึ่งสิ่งที่สะท้องถึงภูมิปัญญาคือ เป็นกลวิธีที่ป้องกันไม่ให้ข้าวมีความเสียหาย ป้องกันเรื่องอุณหภูมิ เชื้อรา หนู่อและพิธีกรรมในการแรกไถ แรกหว่าน แรกปักดำ การไหว้เจ้าที่นา ซึ่งความจริงแล้วคือหากนำไปใช้จะทำให้การทำงานล่าช้า
5. ภูมิปัญญาที่ได้รับการสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

ในปัจจุบันพิธีการทำขวัญข้าวยังคงมีการสืบทอดกันอยู่ ในแถบจังหวัดพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช ส่วนที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แต่ก็เหลืออยู่ไม่มากนัก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและวังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่เห็นเด่นชัดคือ ที่ตำบลระโนดและตำบลบ้านขาวของอำเภอระโนดยังมีการสืบทอดกันอยู่และถือว่าเป็นงานประจำปีของอำเภอ

สิ่งที่น่าสังเกตคือ ความเชื่อในพิธีกรรมและการถือปฏิบัติในการทำขวัญข้าว เป็นการผสมผสานกันระหว่างความเชื่อพื้นบ้าน ความเชื่อทางพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ไว้ได้อย่างกลมกลืน พิธีกรรมบางอย่างจะสะท้อนความเชื่อทั้ง 3 ลักษณะเข้าด้วยกัน เช่น พิธีทำขวัญข้าว จะใช้คาถาต่างๆในการทำนา มีการระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ซึ่งเป็นความเชื่อทางพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเทพเจ้าต่างๆ ซึ่งเป็นความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ และมีการทำเครื่องบัตรพลีความเชื่อของชาวบ้าน เป็นต้น
พิธีกรรมต่างๆเหล่านี้แสดงถึงจิตใจที่ละเอียดอ่อนของคนในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา รวมทั้งสะท้อนภูมิปัญญาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษาศาสตร์ ด้านวรรณคดี ด้านการเกษตร ด้านคำสอน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ต้องธำรงรักษาไว้ไม่ให้สูญหาย อีกทั้งยังต้องช่วยกันอนุรักษ์พิธีกรรมต่างๆ ให้เปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของลูกหลานรุ่นหลัง ที่จะช่วยกันสืบทอดต่อไป
6. แนวทางการนำคุณค่าจากวรรณกรรมเพื่อสร้างมูลค่าให้กับชุมชน

1. การปริวรรตตำราจากภาษาโบราณเป็นภาษาปัจจุบันเพื่อเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่และสืบทอดภูมิปัญญาจากเอกสารโบราณเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาของคนรุ่นหลัง
2. เสาะแสวงหาพันธุ์ข้าวที่ปรากฏอยู่ในตำรา เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวโบราณไม่ให้สูญหายไป เนื่องจากข้าวโบราณเหล่านี้เป็นพันธุ์ข้าวพื้นถิ่นที่เหมาะสมกับภูมิอากาศ สามารถสร้างมูลค่าได้เหมือนข้าวสังข์หยด โดยอาจจะปลูกแบบครบวงจร จัดจำหน่ายในรูปแบบข้าวโบราณซ้อมมือ เป็นต้น
3. สามารถสร้างการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน โดยผ่านพิธีกรรมการทำขวัญข้าว โดยอาจจะจัดการท่องเที่ยวตามเอกสารโบราณ หรือ จัดการสาธิตพิธีกรรมการทำขวัญข้าวแบบโบราณเพื่อสืบทอดวิถีชีวิตและเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เป็นต้น