วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2551

1. วิถีชีวิต

วรรณกรรมท้องถิ่นประเภทหนังสือบุดเล่มนี้ จากการสัมภาษณ์เจ้าของและศึกษาเนื้อหาของที่ปรากฏตามตำรา พบว่าเอกสารฉบับนี้อายุไม่ต่ำกว่า 150 ปี และปัจจุบันพิธีกรรมตามตำราเล่มนี้ก็ยังมีการใช้อยู่ แสดงให้เห็นว่าอาชีพการทำนาเป็นอาชีพหลักในดินแดนแถบนี้มาเป็นเวลานาน ชาวบ้านให้ความเคารพและนับถือในขวัญข้าว เชื่อว่าข้าวมีแม่โพสพสิงสถิตย์อยู่ การทำนาในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะก่อนไถ แรกไถ การเก็บเกี่ยว หรือหลังการเก็บเกี่ยวจะทำด้วยความนอบน้อมต่อแม่โพสพและเทพยดาต่างๆ นอกจากนี้ยังสะท้อนเอกลักษณ์และขั้นตอนการทำนาที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย เช่นมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย “แกะ” โดยเก็บข้าวทีละรวง ก่อนเก็บหากข้าวไม่ล้ม ก็ต้องใช้”ไม้ข่ม” ทำด้วยไม้ไผ่ขนาดต้นแขน ยาวประมาณ 2 วา นาบลงบนข้าวให้ล้มเพื่อความสะดวกในการเก็บ จากนั้นเมื่อได้ 1 กำมือ ก็นำมามัดด้วยคอซังเรียกว่า “เลียง” จากนั้นก็นำผึ่งแดดเพื่อลดความชื้นและจัดลง “แสก” (สาแหรก) คอน กลับบ้านเพื่อนำเลียงข้าวไปดับบนลอม รอการนวดต่อไป เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: