วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2551


ภูมิหลังวรรณกรรมลายลักษณ์ของชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ที่คงเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้ อยู่ในสภาพชำรุดฉีกขาดหรือลบเลือนเป็นส่วนใหญ่ ที่คงสภาพสมบูรณ์มีประมาณไม่ถึง 10 เปอร็เซนต์ หนังสือดังกล่าวอยู่ในรูปของหนังสือบุดบ้าง ใบลานบ้าง แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือบุด เพราะใช้บันทึกเรื่องราวทุกประเภท ไม่เหมือนใบลานที่นิยมเรื่องราวทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอภิธรรม

คำว่า “บุด” น่าจะมาจากภาษาสันสกฤตว่า “ปุส.ตก” ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า “โปต.ถก” ในภาษาเดิมหมายถึง หนังสือ ผ้า เปลือกไม้และการฉาบทาและคำว่า “ปุส.ตก” หรือบุดของภาคใต้น่าจะเป็นรากคำที่ร่วมกันกับสมุดของภาคกลาง ซึ่งเดิมหมายถึงหนังสือ หรือตำราอย่างที่ใช้กันอยู่ในคำว่า “หอสมุด” หรือ “สมุดไทย” เป็นต้น อีกนัยหนึ่ง “บุด” อาจมาจาก “ปุฏ” ซึ่งเป็นคำสันสกฤต แปลว่า พับ หนังสือบุดภาคใต้ก็เป็นสมุดพับ จึงอาจแปรรูปกันมาได้


หนังสือบุดมี 2 ประเภท คือบุดดำและบุดขาว บุดดำเป็นหนังสือที่จารอักษรสีขาว หรือเหลืองลงบนกระดาษสีดำ ส่วนบุดขาวเป็นการจารอักษรสีดำลงบนกระดาษสีขาว ตัวอักษรอาจเป็นได้ทั้งไทยและขอม

การทำหนังสือบุดเท่าที่ทราบมี 2 วิธี คือ กะเทาะเปลือกข่อย แล้วเอาผิวนอกสีเขียวออกด้านในไม่ให้ติดกระพี้ไม้ เอามาบดหรือตำให้ค่อนข้างละเอียดแต่ไม่ถึงกับเป็นผง ผสมกับยางไม้ที่มีเมือกเหนียว คลุกเคล้าให้เข้ากันเป็นอย่างดี แล้วเทลงในพิมพ์ไม้ที่ขุดไว้ตามขนาดของสมุดไทยที่ต้องการ ทั้งส่วนกว้างและส่วนยาว ในด้านความหนานั้นก็หนอดเทข่อยผสมลงไปตามความต้องการ หลังจากนั้นก็ใช้ลูกกลิ้งบดหรือรีดให้สนิทแน่น ทิ้งไว้ชั่ววันชั่วคืนก็แห้งแคะออกจากเบ้าพิมพ์ไปตากให้แห้งก็ใช้การได้ นี่เป็นวิธีหนึ่ง อีกวิธีหนึ่ง จะนำเอาเถาไม้ปริดหนา (กริดหนา) มาตำให้ละเอียด ละลายน้ำแล้วละเลงบนผ้า ผึ่งแดดเอาไว้จนแห้งสนิทนำมาลอกออกเป็นแผ่นสีขาว ถ้าต้องการบุดดำก็เอาเขม่าทาแล้วเอาลูกสะบ้าขัด เพื่อให้เนื้อกระดาษเรียบและแน่น หลังจากนั้นก็นำมาพับเป็นแผ่นๆ ขนาดกว้าง 1 คืบ ยาว 1 ศอกกำ ความหนาของกระดาษแต่ละแผ่น หนากว่ากระดาษธรรมดาเล็กน้อยส่วนความหนาของหนังสือแล้วแต่ความต้องการของผู้ทำ ถ้าต้องการหนาเท่าไรก็ใช้จำนวนหน้าเท่านั้น บางครั้งก็มีการต่อกระดาษในกรณีที่หน้าหมด แต่โดยปกติความหนาที่ใช้ประมาณ 1.5 – 2 นิ้ว วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ส่วนมากเป็นประเภทบุดขาวที่เป็นบุดดำมีน้อยกว่าประเภทแรกมาก แต่ดูจากสภาพหนังสือและอักขรวิธีใช้แล้วเห็นว่าบุดดำน่าจะมีอายุเก่าแก่กว่า

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

น่าสนใจดีครับ ฝากแวะเยี่ยมชมบล๊อกผมด้วยนะครับ มีบทความดีๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้หลายเรื่อง เราอาจจะได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ยินดีที่ได้รู้จักครับ