วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2551

4. ภูมิปัญญาที่ปรากฏในตำราการทำขวัญข้าว

4.1 ภูมิปัญญาด้านภาษาศาสตร์ วรรณกรรมท้องถิ่นเรื่องการทำขวัญข้าวใช้ถ้อยคำง่ายๆ จะมีศัพท์บาลีสันสกฤต และขอม ปนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ยากต่อการสื่อความหมาย ส่วนใหญ่ที่เป็นบทสวดที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาจะเป็นภาษาบาลีสันสกฤต เช่น อุกาสะ อะมัง พันทะนังธิษฐามิ หรือ ในส่วนที่เป็นคาถาอาคม จะเขียนด้วยอักษรขอม และ ภาษาถิ่นใต้ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่องนี้จะเขียนเป็นสำเนียงใต้โดยใช้อักษรไทย เช่น โทกเทียน – ธูปเทียน หนมนมเน้ย – ขนมนมเนย สังเหว้ย – สังเวย งัว – วัว เป็นต้น ซึ่งการบันทึกภาษาใต้เป็นลายลักษณ์อักษร นับเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่ทำให้วรรณกรรมหรือพิธีกรรมนี้ยังคงอยู่และสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

4.2 ภูมิปัญญาด้านวรรณคดี รูปแบบการประพันธ์ ผสมผสานทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง แม้จะเป็นร้อยแก้วที่มีคาถาแทรกปนอยู่ก็มักจะมีคำคล้องจองกัน เช่น มารับพะยัง ๆ ๓ คาบ กุมต้นข้าวจึงว่าคาถานี้ มะอะอุพรหมมานี้ เป็นต้น ส่วนร้อยกรองแต่งด้วยบทประพันธ์ประเภทกาพย์ซึ่งเป็นที่นิยมของวรรรณกรรมท้องถิ่นในพื้นที่แถบนี้ กาพย์ที่ใช้แต่งคือ สุรางคนางค์ 28 (ราบ) เช่น กะไหวกอหวัก ขวัญหนีชวนชัก บัวซอนนางคลี่ ละอองสำลี บัวขาวทรายขาว ชะมัดรวงยาว ชะมุดแดงขาว

4.3 ภูมิปัญญา ด้านประวัติศาสตร์ ในเนื้อหาของบททำขวัญข้าวกล่าวถึงเมืองต่างๆอยู่หลายเมืองซึ่งเป็นประจักษ์พยานว่า ชาวบ้านในสมัยนั้นมีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์พอสมควร นอกจากนี้บางเมืองได้หายไปหรือไม่ปรากฏชื่อแล้วในปัจจุบันเนื่องจากเปลี่ยนชื่อใหม่ เช่น กรุงปราณ เมืองพริบพรี ทำให้เอกสารเล่มนี้สามารถเป็นเอกสารที่สะท้องและบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกเล่มหนึ่ง เช่น

... อยู่เมืองจีนจาม เมืองพราหมณ์นักเทศ เมืองฝรั่งเศส แลเมืองไทย เมือง เชียงใหม่ แลเมืองครุด ขวัญแม่อย่าหยุด อยู่ที่เมืองแขก แลเมืองขอมเมืองสะกอมและตานี เมืองพริบพรีแลไชยา ทุกภาษาเมืองน้อยใหญ่ เชิญแม่เร่งมา.....

....ประหนประหัง เมืองหรังไชยาตา หนิเมืองพริบพรีแลเมืองคอนหวัน เมืองจันณประเทศ เมืองฝรั่งเศสแลเมืองขอมงา เมืองสะกอมแลเมืองไทย เมืองเชียงใหม่แลกรุงปราณ เมืองภูบาลเจ้าธรณี เมืองนครศรีราชเสมา เชิญมาเถิดแม่มา…


4.4 ภูมิปัญญาด้านการเกษตร

- เป็นตำราบันทึกพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ในตำราการทำขวัญข้าวเล่มนี้ได้กล่าวถึงชื่อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองต่างๆ ไว้จำนวนมาก และเป็นพันธุ์ข้าวที่เคยปลูกกันในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ถือเป็นตำราจะบันทึกพันธุ์ข้าวเล่มหนึ่งของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้เลย และพันธุ์ข้าวบางพันธุ์ก็ยังมีการปลูกกันในปัจจุบัน เช่น ข้าวพันธุ์สังข์หยด ซึ่งนับเป็นพันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันเนื่องจากเป็นข้าวที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงโปรด ดังพระดำรัสความตอนหนึ่งว่า


"..สำหรับข้าวสังข์หยดนี้ข้าพเจ้าเพิ่งได้ไปพบที่จังหวัดพัทลุงเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และข้าพเจ้าได้นำกลับมาที่พระตำหนักทักษิณฯ แล้วหุง พอดีกับท่านนายกรัฐมนตรี เมตตาไปเยี่ยมข้าพเจ้าและท่านนายกก็รับประทานข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นข้าวซ้อมมือ แล้วนายกบอกว่าข้าวนี้อร่อย ทำให้ข้าพเจ้า มีกำลัง ใจมากและประชาชนทั้งหลายก็มีความภาคภูมิใจ นอกจากข้าวหอมมะลิ ก็ยังได้มีข้าสังข์หยดสีแดงๆ มีผู้ช่วยคิดนำข้าวกล้องหลายชนิดมาผสมกัน เพื่อหุง เป็นข้าวชนิดใหม่ที่อร่อยและมีคุณประโยชน์มากขึ้น..."

พระราชดำรัสในองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ชื่อพันธุ์ข้าวที่ปรากฏในตำรา

...ข้าวถั่วข้างฟ่าง ข้าวงาช้างแม่นมงัว ข้าวหม้อข้าวครัว ข้าวตานรับขวัญ ข้าวเหนียว ๆ หนัก ข้าวมัวๆ นัก นางกัดนางกัน สนทรีรวงรี ข้าวสีอูมมัน เข็มทองฝอยทอง นางทองอุหรัน ข้าวสีกำจิต กำพืดต่างพัน ดำเนินเชิญขวัญ ๆ ข้าวเจ้ามาปูผ้าร้องเรียก ละออลำเจียก มะลิซ้อนมะลิลา ลูกเจาๆ แคน จำปามะละกา ไข่ปลาลูกปลา แมงดามหาไชยข้าวสีกรรไตร ข้าวไสยอุหวัน ข้าว สีมะยัง นางหมุยนางดำ นางกังมันตม ชวนนางดอกซอน ปากนกต่างๆ...
.
- การเลือกช่วงระยะเวลาในการทำนา การเริ่มทำนาในช่วงเดือน ๖ และเดือน ๗
เมื่อย่างเข้าฤดูฝนช่วงเวลาดินชุ่มชื้นจะเหมาะแก่การไถ หลังจากนั้น ช่วงเวลาที่ฝนตกลงมามากก็เหมาะที่จะปักดำ เมื่อข้าวโต ออกรวง และสุก ก็จะเข้าฤดูแล้งเหมาะแก่การเก็บเกี่ยวพอดี ซึ่งล้วนแล้วที่เกิดจากการสังเกตสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น

ตัวอย่างการแสดงภูมิปัญญาในการเลือกช่วงระยะเวลาในการทำนาที่ปรากฏในตำรา

...มา ทวาดิถีทิกวาร กาลมาฆะมาเส เหมันตรฤดูเดือน ๗ วสันตฤดูดิถีสีหบวรจีรังกาลสมบูรณ์ ขวัญข้าวมากมูลก่ายกอง ทั่วท่องธรณี สีพีคนสรรพพระพาย....

4.5 ภูมิปัญญาด้านการสอดแทรกคำสอน

- ภูมิปัญญาที่สอดแทรกในความเชื่อและพิธีกรรมก่อนแรกไถ ความเชื่อที่ปรากฏอยู่เป็นความเชื่อเรื่องฤกษ์ดิถี ดูเวลาที่เหมาะสมในการทำนาตามแบบแผนโบราณ ความเชื่อเรื่องดิถีฤกษ์เป็นเรื่องของการกำหนดระยะเวลาของการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ ตามฤดูกาล และให้พร้อมเพรียงกันทั้งหมู่บ้านเนื่องจากใช้ตำราเดียวกันทำให้ทำนาพร้อมกัน ข้าวที่ได้ก็จะโตพร้อมกัน สุกพร้อมกัน ทำให้หนูและแมลงไม่รบกวน นอกจากนี้ยังแสดงถึงการรู้จัก การเตรียมความพร้อมก่อนหน้านาจะมาถึง เช่นดูเรื่องเครื่องไถ หว่าน ให้มีความคงทนถาวร โดยหลอกให้เกิดความกลัว เช่น เครื่องไถที่ชำรุดห้ามทำไปทำฟืน หรือไปไถนาจะทำให้แม่โพสพโกรธ ซึ่งความจริงแล้วคือหากนำไปใช้จะทำให้การทำงานล่าช้าและอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้

- ภูมิปัญญาที่สอดแทรกในความเชื่อและพิธีกรรมในช่วงแรกไถถึงเก็บเกี่ยว แบ่งเป็นความเชื่อและพิธีกรรมในการแรกไถ แรกหว่าน แรกปักดำ การไหว้เจ้าที่นา การรวบขวัญข้าว โดยความเชื่อเรื่องแรกไถ แรกหว่าน และแรกดำนา เป็นเรื่องของการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนของการทำนา เช่น ช่วงเวลาดินชุ่มชื้นจะเหมาะแก่การไถ ช่วงเวลาที่ฝนตกลงมามากก็เหมาะที่จะปักดำ ซึ่งล้วนแล้วที่เกิดจากการสังเกตสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ส่วนความเชื่อเรื่องพิธีกรรมการไหว้เจ้าที่นา เป็นการปลูกฝังให้รู้จักรู้คุณผู้มีพระคุณ ส่วนความเชื่อในเรื่องการรวบขวัญข้าว เป็นเรื่องของการปลูกฝังลักษณะนิสัยให้เป็นคนระมัดระวัง ละเอียดรอบคอบ ประหยัดมีความกตัญญู เป็นต้น

- ภูมิปัญญาที่สอดแทรกในความเชื่อและพิธีกรรมในช่วงหลังเก็บเกี่ยว แบ่งเป็นความเชื่อในการดับลอมข้าว ความเชื่อในการทำขวัญข้าว และความเชื่อเกี่ยวกับพระแม่โพสพ ซึ่งสิ่งที่สะท้องถึงภูมิปัญญาคือ เป็นกลวิธีที่ป้องกันไม่ให้ข้าวมีความเสียหาย ป้องกันเรื่องอุณหภูมิ เชื้อรา หนู่อและพิธีกรรมในการแรกไถ แรกหว่าน แรกปักดำ การไหว้เจ้าที่นา ซึ่งความจริงแล้วคือหากนำไปใช้จะทำให้การทำงานล่าช้า

1 ความคิดเห็น:

อินทร์ กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะ
ดิฉันชื่ออุ๊ค่ะ เมื่อได้อ่านเรื่องภูมิปัญญาการทำขวัญข้าวแล้ว สนใจเรื่องบททำขวัญข้าวมาก ไม่ทราบว่าได้เขียนไว้เป็นบทความไหมคะจะขอดูเพื่อเป็นวิทยาทานค่ะ อีกทั้งอยากเห็นตัวบทและวิเคราะห์ตัวบทดูค่ะ ไม่ทราบว่าจะขอข้อมูลเกี่ยวกับตัวบททำขวัญข้าวได้ไหมคะ ขอความกรุณาติดต่อกลับที่ umarin9@hotmail.com นะคะ ขอบคุณค่ะ