วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ประเพณีสมโภชแม่โพสพ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

บทนำ
ประเพณีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่มนุษย์สร้างขึ้นจากสภาพแวดล้อม ทางสังคมและคนในสังคมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามจึงปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยประเพณีนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมตามยุคสมัยได้ การที่ประเพณีไทยยังคงอยู่ได้ก็เพราะสิ่งใหม่เข้ามาช่วยเสริมสร้างสิ่งเก่าและสามารถเข้ากันได้ดี โดยประเพณีนั้นค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นประเพณีจึงเป็นส่วนของวัฒนธรรมที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมาและได้มีการประพฤติปฏิบัติสืบทอดต่อๆ กันมา จะเป็นมรดกทางสังคมและเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ โดยประเพณีนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมตามกาลสมัยได้
ประเพณีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ดังนั้นจึงมีลักษณะร่วมกับวัฒนธรรม กล่าวคือ
1. เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและคนในสังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งดี ตลอดทั้งได้ร่วมมือกันปฏิบัติตาม ในการสร้างประเพณีแต่ละอย่างขึ้นมานั้น อาจได้มาจากสภาพแวดล้อม การทำมาหากิน ความเชื่อ ฯลฯ
2. เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยจะสืบทอดด้วยการเรียนรู้ เช่น เรารู้จักประเพณีวันเข้าพรรษาเพราะได้เคยเห็นผู้ใหญ่ปฏิบัติ เป็นต้น
3. เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ประเพณีแต่ละอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคแต่ละสมัย โดยอาจจะเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดบางอย่างให้ผิดแผกแตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้ทันกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม
อย่างไรก็ตาม ประเพณีไทยยังมีลักษณะเฉพาะของตนเองหลายประการด้วยกัน อันแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของตนเอง ดังนี้
1. เป็นประเพณีที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างแนบแน่น เช่น ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน เช่น การลงแขก การขอฝน การทำขวัญ เป็นต้น
2. เป็นประเพณีที่มีลักษณะยกย่อมเชิดชูบุคคลอันเป็นที่เคารพสักการะและยกย่องผู้อาวุโส โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากษัตริย์ พระสงฆ์ เป็นต้น
3. เป็นประเพณีที่มีความเกี่ยวพันกับศาสนาอย่างเหนียวแน่น เพราะจะมีการทำบุญ ปล่อยนกปล่อยปลา สร้างกุศล เป็นต้น
4. เป็นประเพณีที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิม ศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ซึ่งผสมผสานกันอย่างแยกไม่ออก เช่น ประเพณีแต่งงาน จะมีการดูฤกษ์ยาม มีการสู่ขอ มีพระสงฆ์สวดมนต์ให้พร มีการเจิมหน้าบ่าวสาว หลั่งน้ำสังข์ เป็นต้น
5. เป็นประเพณีที่เน้นการอยู่ร่วมกัน โดยแสดงออกให้เห็นถึงความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การประนีประนอมและการให้อภัย ด้วยประเพณีต่างๆ จะเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมมือช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่มีลักษณะของความขัดแย้ง
6. เป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความสนุกสนานรื่นเริง ความเป็นอิสระเสรี ด้วยประเพณีทุกประเพณีมีความสนุกสนานรื่นเริง มีการพบปะสังสรรค์กับคนในกลุ่มอยู่เสมอ
7. เป็นประเพณีที่มีการประสานระหว่างลักษณะเก่ากับลักษณะใหม่ ประเพณีไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยเพื่อให้ทันกับวิถีชีวิตคนไทย มีลักษณะของการยอมรับ เช่น ประเพณีการแต่งกาย ประเพณีการกินอาหาร เป็นต้น
ประเพณีการสมโภชแม่โพสพของ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ก็เป็นอีกประเพณีหนึ่งของคนไทยภาคใต้ที่เป็นการแสดงถึงความกตัญญูรู้คุณต่อพระคุณของข้าวหรือแม่โพสพ และมีความน่าสนใจ มีหลักฐานและการจดบันทึกขั้นตอนพิธีกรรมความเชื่อ จากรุ่นสู่รุ่น ทั้งในรูปแบบมุขปาฐะ คือสืบทอดกันจากปากสู่ปาก อาศัยการท่องจำและบันทึกลงในหนังสือโบราณภาคใต้ที่รู้จักกันในชื่อ หนังสือบุด หรือ สมุดข่อย ซึ่งทำให้ประเพณีนี้ไม่สูญหายและได้รับการสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ความเป็นมาและภูมิหลังของอำเภอระโนด
บริเวณพื้นที่ของอำเภอระโนดนั้นเป็นบริเวณที่งอกขึ้นภายหลังตามลักษณะการเกิดของสันทรายที่ยาวเหยียดไปจนจรดเขตอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช อย่างไรก็ตามบริเวณที่เป็นเกาะที่สัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์นั้น มาสิ้นสุดลง ที่ริมคลองระโนดเพราะเหนือจากนี้ไปแล้วเป็นเขตแดนที่งอกใหม่และมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสมัยหลังอาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่จะมีอายุตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาลงมาทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะแต่ก่อนการเดินทางมาจากนครศรีธรรมราชมายังเมืองสงขลานั้นต้องมาทางเรือก่อนที่จะกลับกลายมาเป็นคาบสมุทรบริเวณแผ่นดินบกที่เป็นเกาะนี้มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ทั้งการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์และการเป็นแหล่งที่พักการเดินทางของผู้คนจากโพ้นทะเล จึงเป็น เหตุให้เกิดเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นประการแรกในเรื่องที่เป็นแหล่งที่เหมาะสมกับตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก็คือเป็นบริเวณที่มีที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูกโดยเฉพาะการปลูกข้าวทั้งนี้เพราะพื้นที่เป็นสิ่งที่เกิดจากการกระทำของคลื่นลมที่นำเอากรวดทรายและโคลนตมมาทับถมขึ้น เกิดเป็นแนวสันทรายขึ้นมากมายสันทรายหลายสันเกิดการสึกกร่อนเป็นที่ราบและก็มีหลายสันที่ยังอยู่ในสภาพของการเป็นสันเนินสูงที่น้ำท่วมไม่ได้เหมาะกับการตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและสถานที่สำคัญของบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่า บริเวณเกาะแผ่นดินบกทั้งสทิงพระ และระโนดนั้น เป็นพื้นที่ปลูกข้าวได้ดีและมากกว่าบริเวณอื่นๆในเขตจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงทีเดียว
อำเภอระโนดเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสะทิงพระเดิมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสะทิงพระ (เมืองพัทลุงเก่า) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงได้กลับมาขึ้นกับเมืองสงขลา เมื่อมีการจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ได้ยุบเมืองระโนด ตั้งเป็นกิ่งอำเภอระโนดและได้เริ่มก่อสร้างที่ว่าการอำเภอระโนดหลังแรกคู่กับสถานีตำรวจในปี พ.ศ.2466 และในปี พ.ศ.2467 กิ่งอำเภอระโนดได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอระโนด ประกอบด้วย 13 ตำบล


สภาพทั่วไป

ตำแหน่งที่ตั้งอำเภอระโนด ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดสงขลา ห่างจากตัวจังหวัดสงขลา 106 กิโลเมตร ด้านทิศตะวันออกติดต่อกับอ่าวไทย ด้านทิศตะวันตกติดต่อกับทะเลสาบสงขลาและทะเลน้อย อำเภอควนขนุนจังหวัดพัทลุง ทิศเหนือติดต่ออำเภอชะอวดและอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชทิศใต้ติดต่ออำเภอสทิงพระและอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
สภาพพื้นที่
อำเภอระโนดมีเนื้อที่ประมาณ 834.54 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 490,087 ไร่ อำเภอระโนดเป็นอำเภอที่ไม่มีภูเขามีลำน้ำหรือคลองเล็กๆหลายสายไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาลำน้ำที่สำคัญได้แก่คลองระโนดซึ่งเป็นคลองที่มีลักษณะแตกต่างจากคลองอื่นๆเพราะไม่มีต้นน้ำเกิดจากภูเขาโดยตรงและเป็นคลองที่ผ่านไปในพื้นที่ราบโดยตลอด ส่วนการคมนาคมทางบกอาศัยทางหลวงแผ่นดิน สายระโนด-สงขลา ระโนด-พัทลุง ระโนด-นครศรีธรรมราชและทางหลวงชนบทเป็นหลัก
ประชากร
จำนวนประชากรชาย รวม 33,828 คน
จำนวนประชากรหญิง รวม 34,479 คน
จำนวนประชากรทั้งสิ้น รวม 68,307 คน

อาชีพ
ประชากรของอำเภอระโนดส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำการประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด(เลี้ยงกุ้งเป็นหลัก)

การปกครอง
พื้นที่การปกครองของอำเภอระโนด แบ่งการปกครองออกเป็น 12 ตำบล ได้แก่ ระโนด ท่าบอน พังยาง ปากแตระ ระวะ ตะเครียะ บ้านขาว แดนสงวน บ้านใหม่ คลองแดน วัดสน บ่อตรุ


ความเชื่อ และพิธีกรรมเกี่ยวกับการสมโภชแม่โพสพ

ความเชื่อเกี่ยวกับแม่โพสพของชาวบ้านในอำเภอระโนด
การทำนาของชาวบ้านในอำเภอระโนด มีรูปแบบวิธีการทำนา เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนาตลอดจนความเชื่อและพิธีกรรมที่สืบเนื่องจากการทำนาของชาวบ้าน มีความคล้ายคลึงกันกับพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบเดียวกัน เช่น ชาวอำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา อำเภอปากพะยูน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น โดยความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำนาของชาวอำเภอระโนด ยังคงมีการสืบทอดอย่างไม่ขาดสายมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าปัจจุบันความเชื่อและพิธีกรรมในการทำนาของชาวบ้านจะถูกอิทธิพลของวัฒนธรรมของชาวต่างชาติ เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีอิทธิพลมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีชาวบ้านโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ยังคงมีความเชื่อและยึดถือปฏิบัติกันอย่างเหนียวแน่น จึงเป็นเหตุให้วัฒนธรรมความเชื่อและพิธีกรรมในการทำนายังคงธำรงอยู่ตราบทุกวันนี้
การทำขวัญข้าว ตามประวัติบอกเล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณของชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดมีปัญหาถามว่าระหว่างพระพุทธเจ้ากับแม่โพสพนั้นใครจะมีบุญคุณมากกว่ากัน ต่างก็มีการถกเถียงกันผลที่สุดมนุษย์ก็ให้แม่โพสพเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แม่โพสพทั้งเสียใจและน้อยใจเป็นอย่างมากพลางกล่าวว่า “ตั้งแต่งรักษามนุษย์มา มนุษย์ได้มีข้าวกิน ถึงแม้ว่าสิ่งอื่น ๆ จะมีพระคุณ แต่แม่โพสพก็ไม่ควรที่จะพ่ายแพ้แก่ใคร ๆ “ กล่าวจบ แม่โพสพก็หลีกหนีไปอาศัยอยู่ที่ภูเขาทบกัน ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านต่างก็พากันได้รับความเดือดร้อน ร้องห่มร้องไห้ เนื่องจากต้นข้าวเมล็ดลีบเสียหายหมด เกิดความอดอยากขาดแคลนอาหารไปทั่วทุกหนทุกแห่ง จนกระทั่งมีสัตว์ 2 ตัว คือปลาสลาดและนกคู้ลารับอาสาไปรับแม่โพสพที่ภูเขาทับกัน ปลาสลาดสมัยก่อนลำตัวจะกลม แต่พอเดินทางเข้าไปคาบเอาแม่โพสพซึ่งเป็นช่วงที่ภูเขากระทบกันพอดีและทับเอาลำตัวปลาสลาดจนตัวแบน จากนั้นปลาสลาดก็คาบเมล็ดข้าวหรือแม่โพสพออกมาพ้นจากภูเขาทบกันได้ นกคู้ลาจึงฉวยโอกาสแย่งคาบเมล็ดข้าวพาบินหนีมาจนมาถูกพายุใหญ่ก็ขอร้องให้ช่วย ปลาสลาดซึ่งว่ายน้ำตามมาทันพอดีขณะที่นกคู้ลาอ้าปากจะขอช่วยทำให้เมล็ดข้าวหล่นออกจากปากของนกคู้ลา ปลาสลาดก็รับไว้แล้วคาบมาจนกลับมาถึงที่เดิมนำมามอบให้พระพุทธเจ้าแจกจ่ายให้ประชาชนนำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อไป ตั้งแต่น้ำมามีการทำขวัญข้าวเพื่อรำลึกถึงบุญคุณของแม่โพสพสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน และปลาสลาดก็มีลำตัวแบนมาจนถึงบัดนี้
จากการศึกษาไม่ปรากฏว่าแม่โพสพเป็นเทวดาหรือเทพธิดาในศาสนาพรหมณ์ฮินดูหรือศาสนาอื่นใด จึงน่าจะเป็นไปได้ว่าแม่โพสพน่าจะเป็นเทพธิดาประจำท้องถิ่นของไทยเอง และเป็นความเชื่อที่มีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย
ดังนั้นเพื่อเป็นการทำให้แม่โพสพพอใจและอยู่กับชาวนาต่อไป จึงได้มีการทำพิธีทำขวัญข้าว หรือ พิธีสมโภชแม่โพสพ เป็นพิธีบวงสรวงแม่โพสพ ผู้เป็นวิญญาณแห่งข้าว โดยเชื่อว่าถ้าข้าวมีขวัญสิงอยู่ประจำ ไม่หลีกลี้ไปไหน ต้นข้าวก็จะงอกงามสมบูรณ์ ให้ผลสูง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน หรือเฉาตาย ส่วนที่เก็บเกี่ยวขึ้นสู่ยุ้งฉางแล้ว แม้จะจำหน่ายขายหรือกินก็สิ้นเปลืองไปน้อยที่สุด

ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการทำนาแบ่งได้ 3 ช่วง เวลาคือ
- ความเชื่อและพิธีกรรมก่อนแรกไถ ความเชื่อที่ปรากฏอยู่เป็นความเชื่อเรื่องฤกษ์ดิถี ดูเวลาที่เหมาะสมในการทำนาตามแบบแผนโบราณ ความเชื่อเรื่องดิถีฤกษ์เป็นเรื่องของการกำหนดระยะเวลาของการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ ตามฤดูกาล และให้พร้อมเพรียงกันทั้งหมู่บ้านเนื่องจากใช้ตำราเดียวกันทำให้ทำนาพร้อมกัน ข้าวที่ได้ก็จะโตพร้อมกัน สุกพร้อมกัน ทำให้หนูและแมลงไม่รบกวน นอกจากนี้ยังแสดงถึงการรู้จักเตรียมตัวมนการทำนา การเตรียมความพร้อมก่อนหน้านาจะมาถึง เช่นดูเรื่องเครื่องไถ หว่าน ให้มีความคงทนถาวร โดยหลอกให้เกิดความกลัว เช่น เครื่องไถที่ชำรุดห้ามทำไปทำฟืน หรือไปไถนาจะทำให้แม่โพสพโกรธ ซึ่งความจริงแล้วคือหากนำไปใช้จะทำให้การทำงานล่าช้าและอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้
- ความเชื่อและพิธีกรรมในช่วงแรกไถถึงเก็บเกี่ยว แบ่งเป็นความเชื่อและพิธีกรรมในการแรกไถ แรกหว่าน แรกปักดำ การไหว้เจ้าที่นา การรวบขวัญข้าว โดยความเชื่อเรื่องแรกไถ แรกหว่าน และแรกดำนา เป็นเรื่องของการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนของการทำนา เช่น ช่วงเวลาดินชุ่มชื้นจะเหมาะแก่การไถ ช่วงเวลาที่ฝนตกลงมามากก็เหมาะที่จะปักดำ ซึ่งล้วนแล้วที่เกิดจากการสังเกตสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ส่วนความเชื่อเรื่องพิธีกรรมการไหว้เจ้าที่นา เป็นการปลูกฝังให้รู้จักรู้คุณผู้มีพระคุณ ส่วนความเชื่อในเรื่องการรวบขวัญข้าว เป็นเรื่องของการปลูกฝังลักษณะนิสัยให้เป็นคนระมัดระวัง ละเอียดรอบคอบ ประหยัดมีความกตัญญู เป็นต้น
- ความเชื่อและพิธีกรรมในช่วงหลังเก็บเกี่ยว แบ่งเป็นความเชื่อในการดับลอมข้าว ความเชื่อในการทำขวัญข้าว และความเชื่อเกี่ยวกับพระแม่โพสพ ซึ่งสิ่งที่สะท้องถึงภูมิปัญญาคือ เป็นกลวิธีที่ป้องกันไม่ให้ข้าวมีความเสียหาย ป้องกันเรื่องอุณหภูมิ เชื้อรา หนู่อและพิธีกรรมในการแรกไถ แรกหว่าน แรกปักดำ การไหว้เจ้าที่นา ซึ่งความจริงแล้วคือหากนำไปใช้จะทำให้การทำงานล่าช้
เกือบทุกขั้นตอนของการทำนา ชาวบ้านต้องรำลึกถึงแม่โพสพ เริ่มตั้งแต่การหว่านข้าวก็ต้องหาวันดี พันธุ์ข้าวต้องแบ่งส่วนจากข้าวขวัญอันเป็นขวัญแห่งแม่โพสพ ก่อนถอนต้นกล้าไปปักดำต้องขอขมา ตอนเริ่มปักดำต้องเชิญขวัญมาอยู่รากอยู่กอ ข้าวออกรวงอร่ามต้องรวบข้าว ผูกขวัญไว้ เก็บเกี่ยวแล้วต้องทำขวัญข้าวครั้งสำคัญ และเมื่อรื้อข้าวลงจากกองมานวดทุกครั้งก็ต้องขอขมาลาโทษ ในทุกขั้นตอนที่ว่านี้การทำขวัญเป็นการแสดงออกต่อแม่โพสพที่เป็นพิธีรีตรองมากที่สุด

การประกอบพิธีสมโภชแม่โพสพ ของอำเภอระโนด
1. การเตรียมพิธี
- การเลือกวันทำพิธี การสมโภชแม่โพสพของชาวอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จะทำหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านเชื่อว่าการสมโภชแม่โพสพเป็นการประกอบพิธีสดุดีแม่โพสพ เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลและเพื่อแสดงความชื่นชมยินดีที่ได้ทำนาประสบผลสำเร็จ ส่วนใหญ่การทำขวัญข้าวมักจะทำในเดือน 6 ถ้าเป็นข้างขึ้นมักจะทำในวันคี่ เช่น 13 ค่ำ 15 ค่ำ ถ้าเป็นเป็นข้างแรมใช้วันคู่ เช่น 8 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ แต่ส่วนมากในวันธรรมสวนะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันพระ แต่ก่อนนิยมทำในคืนวันเพ็ญ การทำขวัญข้าวจะต้องไม่เลือกเอาวันที่ถูกผีเสื้อข้าว คือ วันที่ตำราระบุว่า ถ้าหว่านปักดำหรือเก็บเกี่ยวในวันนั้นจะถูกผีเสื้อข้าวกินหมด การทำขวัญข้าวหรือสมโภชแม่โพสพแต่เดิมจะทำในช่วงพลบค่ำหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เวลานกชุมรัง ในวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ เว้นวันอาทิตย์ วันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์ และวันทักทิน(ทับทิม) คือวันขึ้นหรือวันแรมที่เลขวันและเลขเดือนตรงกัน เช่น เดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำ แต่ในปัจจุบันอำเภอระโนดได้จัดงานพิธีสมโภชแม่โพสพประจำปี โดยให้ประชาชนผู้สนใจจากหมู่บ้านและตำบลต่างๆ ร่วมพิธีด้วยจึงได้ปรับเปลี่ยนมาจัดในช่วงกลางวัน
2. ขั้นตอนการทำพิธี การทำพิธีสมโภชแม่โพสพของชาวอำเภอระโนดจะเป็นพิธีสงฆ์และพิธีหมอทำขวัญข้าวซึ่งเป็นคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ โดยมีขั้นตอนดังนี้
- เครื่องเซ่นสังเวยที่นำมาใช้ในการประกอบพิธี คือ
หัวหมู จำนวน 1 หัว หรือมากกว่านั้น ปลามีหัวมีหาง 1 คู่ ไก่ต้มตัวผู้ 1 ตัว บายศรีปากชาม ในบายศรีปากชามจะมีขนมต่างๆ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง ถั่ว งา ข้าวตอก นอกจากนี้ยังมีไข่เสียบที่ยอดบายศรี อาจมีการนำเงินไปเสียบที่ยอดบายศรี และปักเทียนขาวจำนวน 1 เล่มลงไปในบายศรีด้วย การจัดบายศรีจะจัดเป็นคู่โดยมักจะใช้ตั้งแต่ 1-3 คู่ หรือจะจัดเป็นกี่คู่ก็แล้วแต่สามารถกระทำได้ทั้งสิ้นแล้วแต่ความสะดวกของหมอ ขนมต้มแดงขนมต้มขาว เป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ในพิธี มะพร้าวอ่อน จำนวน 3 ลูก หรือมากน้อยกว่านั้น ผลไม้ต่างๆ ตามสมควร มักจะนิยมจัดวางให้เป็นเลขคี่ 3 5 7 หรือ 9 อย่าง ผลไม้ที่นิยมใช้ เช่น กล้วยน้ำว้า อ้อย ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และขนุน เป็นต้น ข้าวตอก ถั่ว งา เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธี ดอกไม้ 7 อย่าง ส่วนใหญ่จะใช้ดอกไม้ที่สามารถหาได้บริเวณบ้าน เช่น ดาวเรือง ดอกเข็ม บานไม่รู้โรย และบานชื่น เป็นต้น อาหารคาว 3 7 9 หรือ 12 อย่าง หมาก พลู บุหรี่ แสดงถึงการรับแขก และเป็นสิ่งที่คนโบราณนิยมรับประทาน อาหารหวาน เช่นเดียวกับอาหารคาว มักจะใช้ขนมที่มีชื่อมงคล เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ขนมชั้น และขนมถ้วยฟู เป็นต้น ผ้าขาว ใช้ผ้าขาวขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสสำหรับทำเพดานบนเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตขณะที่อัญเชิญลงมาเข้าร่วมพิธี อุปกรณ์ที่ใช้ทำนา หรือซากสัตว์ เช่น เชือกวัวขาด เขาวัว คราด ไถ เป็นต้น การตั้งเครื่องบูชาอาจตั้งมากหรือน้อยกว่าที่กล่าวข้างต้นนี้ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของหมอแต่ละท่าน ข้าวที่ผ่านการเก็บเกี่ยว (จะเป็นมัดหรือเลียงก็ได้) เป็นตัวแทนของข้าวทั้งหมด ใบไม้และผลไม้ ประจำท้องถิ่น เช่น ใบชุมเห็ด ใบชุมแสง ชุมโพ่ (ฝรั่ง) ไม้หว้า ไม้กำชำ กล้วยอ้อย ไม้พรหมคต ย่านนางโพพิศ ย่านลิเพา เป็นต้น
การประกอบพิธีไหว้ครูหมอยาต้องถือศีล 5 เพื่อทำใจให้บริสุทธิ์ก่อน จากนั้นนุ่งห่มชุดขาว เมื่อเริ่มพิธี จุดธูปเทียนที่หน้าหิ้งบูชา กราบ 3 หน แล้วจึงกล่าวชุมนุมเทวดา ดังนี้
- ในการทำพิธีชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอระโนด(เขตตำบลระโนดและตำบลใกล้เคียง)จะนำข้าวเลียงมาร่วมพิธีคนละ 5 - 10 ลียง หรือตามกำลังความสามารถ พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะรวบรวมข้าวเลียงมาจัดไว้ที่เดียวกัน หมอทำขวัญข้าวจะนำอุปกรณ์ต่างๆมาวางบนโต๊ะพิธี เอาแหวนผูกด้ายมาวงล้อมรอบขวัญข้าว วางสายสิญจน์รอบเครื่องบายศรีและเครื่องบูชาในพิธี แล้วสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย พิธีสงฆ์ หมอทำขวัญกล่าวชุมนุมเทวดา ไหว้สัดดี ตั้งนะโม 3 จบ เปิดกรวยบายศรี จุดเทียนชัยและแหล่บททำขวัญข้าว จบพระสงฆ์สวดชยันโต จากนั้นหมอทำขวัญว่าคาถาปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้แม่โพสพอยู่ประจำยุ้งข้าวเป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนั้น ชาวบ้านก็จะนำข้าวที่ผ่านการทำพิธีเสร็จแล้วกลับไปบ้านเพื่อเก็บไว้เป็นสิริมงคลและเก็บไว้หว่านร่วมกับข้าวปลูกในครั้งต่อไปโดนเชื่อว่าจะทำให้ข้าวบริบูรณ์ได้ผลดี
3. บทสมโภชแม่โพสพ
- บทแหล่ทำขวัญข้าว
วันนี้วันดี เป็นศรีพระยาวัน แคล้วทรทึก ทักทินยมข้น
ลูกจักทำขวัญ จัดสรรของดี กล้วยอ้อยแตงกวา ถั่วงามากมี
ทุกสิ่งใส่ที่ ให้แม่ข้าเสวย อีกทั้งพันธุ์ไม้ ลูกแต่งเอาไว้
ให้แม่ชมเชย ชุมเห็ดชุมแสง ชุมโพ่แม่เอย พันธุ์ไม้ยังเหลย
ไม้หว้ากำชำ กล้วยอ้อยพรหมคต ลูกจัดไว้หมด รับแม่ตาตำ
ย่านนางโพพิศ ด้ายแดงขาวดำ ย่านลิเพาประจำ รัดพุ่มพฤกษา
ไม้ถบเป็นหลัก ทำกรอมแล้วปัก รับพระมารดา ให้แม่ชมเชย
พุ่มไม้พฤกษา ลูกน้อยคร่าวถ้า มารดาดำเหนิน เชิญมาเถิดนะแม่ขวัญเอย
แม่นิลพูสี มาตุลีเทวา ทั้งแม่เหล็กกล้า แม่ไพศาลี
ปลาหลาดนำหน้า เมื่อแม่เสด็จมา นางนกคู้ลา พาจากคีรี
ข้าวเหนียวข้าวจ้าว สิ่งละเม็ดด้วยดี องค์พระมาตุลี นำแม่ข้ามา
มาเอาขวัญข้าว ประสูติลูกเต้า เต็มทั้งไร่นา มนุษย์ทั้งหลาย
ได้รอดชีวา คุณพระมารดา สืบก้าวโดยตรง วันนี้ลูกยา
ข้าวสุกแล้วหนา มาเชิญโฉมยง ให้แม่พูงา จากปลาทองทรง
ชักชวนญาติวงศ์ แห่ห้อมล้อมนา นางแก้วนางกอง ทองพูนหนุนห้อง
พวงหวายลูกปลา นางขาวดำหอม ดอกยอมแมงดา ประทุมโสภา
ยายออย่างดี ช่อปริงดอกพร้าว เชิญมาเถิดนะเจ้า แม่นิลพูสี
หน่วยเขือนางกอง นางทองรวงรี จุกเทียนหอมดี ข้าวหยีรวงดำ
นางหอมประจำ ข้าวกระแจหอมหวาน ข้าวช่อไม้ไผ่ ไข่มดลิ้นคลาน
ดาวเรืองเล่าท่าน ยังข้าวนั้นเหลย นางหงสงรส รวงงามปรากฏ
หน่วยแดงน่าเชย ชมข้าวย่านไทร รวงงามกุไหรเหลย เชิญมาแม่เอย
ข้าวยอดพระนคร ชมข้าวย่านไทร รวงงามกุไหร รวงใหญ่บ่หย่อน
ปากนกนี้แหละ เที่ยงแท้งามงอน รวงกองเป็นก้อน ข้าวเหลืองทองพูน
ข้าวช่อไข่เป็ด กอรวงงามเสร็จ เต็มไม่รู้เหื้อง ข้าวโพดสาลี
มีสีรุ่งเรือง ข้าวนางพูนเกิด เชิญแม่มาเถิด ข้าวทองสาลี
ข้าวตีนนกทูง กอรวงงามดี เชิญมาทางนี้ ข้าวแมงดาลาย
ข้าวทรายขาวเล่า เชิญมาเถิดเจ้า ทำขวัญให้สบาย ยังข้าวกำพรึก
ลูกนึกไม่วาย เชิญมาเล่าไซร้ ดอกอ้อเพราะพรึง ยังข้าวไม่ตาก
ศรีแม่งามหลาก รวงมากจริงๆ เชิญมาให้สิ้น นางหอมลูกปลา
ข้าวเทพมหาชัย มาแล้วแม่อย่าไป เชิญมาแม่มา ช่อตอดอกประดู่
นางงามข้าวหนัก อนนักทั้งคู่ มะเลอซ่อนตัวผู้ ข้าวเยอะข้าวสาร
มาชมให้สบาย หฤทัยชื่นบาน เชิญมาอย่านาน เลยท่านทั้งปวง
โอ้แม่โพสพ ลูกเรียกมาจบ แต่ภูเขาหลวง เชิญมาอยู่แมล็ด
เสด็จมาอยู่รวง รับเอาบวงสรวง ที่ลูกบูชา ขวัญอยู่ไร่นา
ลูกเรียกมาไว้ อย่าแหนงเลยหนา อยู่ในไร่นา เชิญมาทุกตน
มาสร้างกุศล ด้วยคนเถิดหนา โอ้แม่โพสพเจ้า อย่าละห้อยสร้อยเศร้า เชิญมาแม่มา รับเอาข้าวขวัญ สารพันนานา ที่ลูกบูชา
นานาหลายพันธุ์ เงินทองแก้วแหวน ผูกมือถือแขน ข้างละคู่ทำขวัญ
วัวดินแมงดา กุ้งปลาหลายพันธุ์ แต่งไว้ครบครัน ให้แม่ชมเชย
เชยแล้วอย่าจาก บรรดามามาก รับเอาสังเหวย มาจับเทียนขวัญ
เถิดนะขวัญแม่เอย แม่อย่าละเลย แม่อย่าไปไกล อีกข้าวเหนียวและข้าวเจ้า
มากมายหนักหนา ข้าวศรีวงสา ยังข้าวหางม้า ย่านลิเพาเคราเครือ เชิญขวัญนางแอ ขวัญข้าวเจ้าแม่ แม่จะให้มาเอง ปูผ้ารองรับ สำหรับแต่งเพลง ข้าวยอดพวงหวาย ข้าวหนมนางแจ่ม ข้าวแย้มนางพราย ข้าวหนุนข้าวหนาย อีกทั้งนางป้อม รวงล้อมนานา ข้าวพวงระกา
พุทราดำน้อย เชิญเถิดยอดสร้อย มาเอาเครื่องขยา บูชาสังเหวย เชิญขวัญแม่เอ้ย มาชมบายสี ไกวกวักขวัญแม่ ชวนชักกันมานี้ ข้าวนางคลี่ละออง สำลีบัวขาว ข้าวชะมดรวงยาว ข้าวละะมุดแดงขาว นางนาดกรายกร อันมือแม่อเนก ขวัญแม่เป็นเอก นาลึกนาดอน เอหะอะหัง ขวัญแม่เร่งมา มาชมขยา รสชากระยาหาร ฝูงคนตระการ ต่างๆนาๆ ปูผ้ารองรับ ขวัญแม่งามสรรพ เชิญมาแม่มา นางทองตาหนี นางศรีชฎา นางอุนนางเกิด เชิญแม่มาเถิด เร่งชวนกันมา นางละอองหงสา ทองเรืองงามดี
อีกทั้งนางสนทรี มะลิซ้อนด้วยกัน ข้าขอเชิญขวัญ มาเร็วๆ พลันๆ เถิดนะขวัญแม่เอย ขวัญแม่อย่าแล่น ละเล่นไปไกล มารับเครื่องสังเหวย ให้สำราญใจ อันเชิญขวัญแม่ เร่งมาไวไว ม่อย่าตกใจ แก่หนูหมูกวาง แก่สัตว์ต่างๆ แรดช้างในไพร วัวควายใดใด ขวัญแม่อย่าหน่าย เชิญมาเถิดนะขวัญแม่เอย ขวัญแม่อย่าตกใจ แก่ฝูงมนุษย์
เรือนหักคลังทรุด ขวัญแม่อย่าหยุด อย่าตกเชิงกอน ขวัญแม่อย่าร้อนฤทัย ขวัญแม่อย่านอน ที่ห้วยเหวผาป่าไม้ ลูกน้อยร้องเชิญ ขอเชิญแม่มาอยู่ใจ เชิญขวัญนางไท เร่งมาไวไว ขวัญแม่อย่าตกใจ กระจอนหางดอก กระรอกหางยาง กระแตหางขาว คาบแม่ลูกไป มาแม่มาอยู่ แม่มาเร็วๆไวไว แม่อย่าตกใจ เชิญมาเถิดนะขวัญแม่เอย

คำกาดเชิญขวัญแม่โพสพ
ขวัญแม่ที่ตก ที่เที่ยวตกอยู่ที่นา อยู่ที่ชายหนอง อยู่ที่ชายคลอง อยู่ที่ชายท่า ขวัญแม่ ที่ตกแอบพุ่มไม้พฤกษา อยู่ที่ริมคงคา ชายทางเดิน ขอเชิญแม่เร่งดำเหนิน อย่าเหินเพลินด้วยฝูงคน ขวัญแม่นิรมลจงรีบมาหาบรรดาแม่ที่ตกหล่นอยู่พื้นปฐพี ตกหล่นอยู่พื้นธรณี อย่าเหินเพลินชมพฤกษีและฝูงสัตว์ที่ในไพร ขวัญแม่อย่าไปอยู่ในคงคา ชมกุ้งปลาฝูงมัจฉาตัวน้อยใหญ่ ถ้าแม้นฝูงมนุษย์ทำผิดสิ่งอันใด ขออภัยให้ลูกน้อยที่ร้องเชิญอยู่เสียงแจ้วๆ อันเชิญขวัญแม่ที่สถิตอยู่เขาหลวง ขวัญแม่อย่าหนักหน่วงขัดขืนคำลูกอ้อนวอน

ภาพสะท้อนที่ปรากฏในประเพณีสมโภชแม่โพสพอำเภอระโนด
“ความเชื่อกับสังคมมีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่ความเชื่อเป็นตัวกำหนดพิธีการและการถือปฏิบัติต่าง ๆ ” สังคมและความเชื่อมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง เพราะความเชื่อของคนในสังคมจะเป็นตัวกำหนดพิธีกรรมและการถือปฏิบัติต่าง ๆ ของบุคคลในสังคมนั้น ๆ ความเชื่อจึงเปรียบเสมือนต้นกำเนิดแห่งพิธีกรรมและการถือปฏิบัติทั้งปวง
พิธีกรรม หมายถึง “วิธีการชนิดหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมาย การที่เราจะได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการเราจำเป็นต้องมีการกระทำ และในแต่ละการกระทำก็ต้องมีวิธี” นั่นหมายถึงการกระทำที่มีแบบแผนมีขั้นตอน โดยมุ่งให้บรรลุจุดประสงค์ของผู้จัดพิธีกรรม ลักษณะการกระทำที่เป็นพิธีการย่อมจะสะท้อนแนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำ คือ

ผู้ทำพิธี – ผู้เข้าร่วมพิธี
หมอทำขวัญข้าวจะทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีและชาวบ้านในละแวกนั้นเป็นผู้เข้าร่วมพิธี ซึ่งในการประกอบพิธีหมอจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเพื่อเชื่อมระหว่างเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับมนุษย์ โดยใช้การสวดบทชุมนุมเทวดา เพื่อเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงมาในพิธี แล้วจึงสวดพระคาถาต่างๆ ตลอดจนถึงคำอัญเชิญ โองการต่างๆ ซึ่งคาถาเหล่านี้มีทั้งที่เป็นภาษาบาลี และเป็นภาษาไทย ในการประกอบพิธีกรรมหมอจะแต่งกายอย่างประณีต คือ นุ่งขาวห่มขาว สวมชุด ปกติแต่ห่มเฉียงด้วยผ้าขาวหรือผ้าขาวม้า หรือไม่ห่มขาวเลยขึ้นอยู่กับการถือปฏิบัติของหมอแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นชุดที่มีสีอ่อนๆ หมอจะนั่งอย่างสำรวม เมื่อเตรียมเครื่องบูชาเรียบร้อยแล้วหมอจะสำรวจความเรียบร้อยของเครื่องบูชาอีกครั้ง เพื่อไม่ให้มีอะไรขาดตกบกพร่อง เมื่อสำรวจเรียบร้อยแล้วจึงเริ่มต้นทำพิธี ในการสวดมนต์หมอยาจะสวดเสียงดังกังวานและในส่วนของบทอัญเชิญที่เป็นภาษาไทย หมอทำขวัญข้าวจะอ่านโดยใช้ทำนองคล้ายทำนองเสนาะ มีการทอดเสียง เปล่งเสียง และเอื้อนซึ่งมีความไพเราะ และบางช่วงหมอจะสวดโดยไม่เปล่งเสียงออกมา เพียงแต่ทำปากขมุบขมิบเท่านั้น ซึ่งหมอทำขวัญข้าวจะกระทำพิธีต่างๆ อย่างสำรวมจนจบพิธี
หมอทำขวัญข้าวโดยบทบาทแล้วส่วนใหญ่จะเป็นชายที่ย่างเข้าสู่วัยชรา เป็นคนที่อยู่ในศีลในธรรม ได้รับการยอมรับนับถือ และเป็นแบบอย่างที่ดีของชาวบ้าน อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญาณของหมู่บ้านก็ว่าได้ นอกจากจะเป็นผู้ทรงภูมิทางความเชื่อและพิธีกรรมแล้ว หมอทำขวัญข้าวยังทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และพิธีกรรมแก่คนรุ่นหลัง เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความเชื่อและพิธีกรรมให้คงอยู่กับท้องถิ่นต่อไป
จากการศึกษาพบว่านอกเป็นผู้ทำพิธีหรือหมอทำขวัญข้าวแล้ว ส่วนใหญ่หมอทำขวัญข้าวจะมีความรู้ด้านอื่นๆ อีกด้วย เช่น ทางยาแผนโบราณ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ ไสยศาสตร์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมอื่นนอกเหนือจากการทำขวัญข้าว เช่น การดูฤกษ์ยามในการขึ้นบ้านใหม่ การแต่งงาน ตั้งชื่อ ตรวจดูดวงชะตาราศี ตั้งศาลพระภูมิ เป็นต้น ซึ่งนับว่าหมอทำขวัญข้าวเป็นผู้ที่มีความรู้มากมาย เป็นที่ปรึกษาให้ชาวบ้านและคนในชุมชน จึงถือได้ว่าหมอทำขวัญข้าวเป็นปราชญ์ท้องถิ่น เป็นปูชนียบุคคลที่ควรยกย่องสรรเสริญ
ในด้านของผู้เข้าร่วมพิธี ได้แก่ชาวบ้านในละแวกนั้น จะแต่งกายสวยงาม เรียบร้อย และสุภาพ ในพิธีการหมอเป็นผู้ทำพิธีเพียงคนเดียว ผู้เข้าร่วมพิธีเพียงแต่พนมมือด้วยความสำรวมเท่านั้น การได้จัดพิธีกรรมทำให้ผู้ร่วมพิธีมีขวัญและกำลังใจ มีสิ่งยึดเหนี่ยวใจในการทำงาน รู้สึกปลอดภัยคลายความกังวล เป็นต้น

สัญลักษณ์ที่ปรากฏในพิธี
ในพิธีกรรมใดๆ ก็ตามเมื่อมีการประกอบพิธี สิ่งสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ คือ เครื่องบูชาและเครื่องใช้ประกอบพิธีต่างๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบอยู่ในพิธีกรรมเป็นสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ใช้แทนสิ่งต่างๆ เริ่มตั้งแต่ ผู้ประกอบพิธีซึ่งหมายถึงหมอทำขวัญ จะทำหน้าที่เป็นตัวแทน เครื่องบูชาเหล่านี้เป็นมีความหมาย แฝงอยู่ ซึ่งการศึกษาสัญลักษณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีจะช่วยให้เข้าใจพิธีกรรมนั้นๆได้ดียิ่งขึ้นสัญลักษณ์ในพิธีสมโภชแม่โพสพ ได้แก่
หัวหมู เป็นการบูชาบรรพบุรุษ ไก่ต้ม (ใช้ไก้ตัวผู้) ใช้เซ่นสังเวยวิญญาณ ปลามีหัวมีหาง แทนความอุดมสมบูรณ์ การนุ่งห่มสีขาว แสดงถึงความบริสุทธิ์ เป็นสีของพราหมณ์ อาหารคาวหวาน เป็นเครื่องบูชา เพื่อถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดอกไม้ แสดงถึงความเคารพ เป็นเครื่องบูชาที่แสดงถึงความอ่อนน้อม อ่อนโยน ธูป 3 ดอก เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทียน เป็น สัญลักษณ์ทางศาสนา แสงเทียนที่เป็นประกายแสดงถึงจิตอันสว่างไสว และสมาธิ ข้าวตอก แสดงถึงความงอกเงยของความรู้ ผ้าขาวใช้ทำฝ้าเพดานเปรียบเสมือนเครื่องกั้นระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ เป็นที่สถิตของเทวดาเมื่อกล่าวอัญเชิญลงมายังพิธี มะพร้าวอ่อน แสดงถึงความบริสุทธิ์ ขนมต้มแดงขนมต้มขาว เป็นเครื่องบูชาครู กล้วย อ้อย ขนุน เป็นสิ่งที่คนโบราณกินเพื่อดำรงชีพ หมาก พลู และบุหรี่ เป็นสิ่งที่คนโบราณนิยมกินและใช้รับแขก น้ำชา นมสด และน้ำผึ้ง เหล้า เป็นเครื่องบูชาพระฤๅษีต่างๆ ไข่เสียบยอด หมายถึงการให้กำเนิดชีวิต เงินติดเทียน เป็นเครื่องบูชา อุปกรณ์ทำนา แทนเครื่องประกอบอาชีพ เพื่อความเป็นสิริมงคล ทอง แทนสิ่งมีค่า ใบไม้และผลไม้ ประจำท้องถิ่น เช่น ใบชุมเห็ด ใบชุมแสง ชุมโพ่ (ฝรั่ง) ไม้หว้า ไม้กำชำ กล้วยอ้อย ไม้พรหมคต ย่านนางโพพิศ ย่านลิเพา เป็นต้น เป็นสัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น



ความเชื่อที่ปรากฏในพิธีกรรม

ความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในประเพณีสมโภชแม่โพสพ อำเภอระโนด โดยจะแบ่งประเภทของความเชื่อเป็น 2 ประเภท คือ
1. ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา
2. ความเชื่อพื้นบ้าน

1. ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา
ศาสนาพุทธนั้นมีความเชื่อว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หมั่นทำความดีจะได้ขึ้นสวรรค์ ถ้าทำความชั่วจะตกนรก” และความเชื่ออันเนื่องมาจากศาสนาย่อมมีผลไปถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ในสังคม และเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของคนในสังคมด้วย ในประเพณีสมโภชแม่โพสพอำเภอระโนด แม้จะเป็นพิธีที่บวงสรวงแม่โพสพ ซึ่งเป็นความเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ได้นิมนต์พระสงฆ์ทางพระพุทธศาสนา ร่วมพิธีด้วย สะท้อนให้เห็นความเชื่อในเรื่องพระพุทธศาสนาที่เข้ามามีบทบาทและผูกพันกับวิถีชีวิตที่ฝังรากลึกและแนบแน่น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์จะมีบทสวดหรือการกล่าวอ้างถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ การบูชาพระรัตนตรัย การอัญเชิญพระอรหันต์ ร่วมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ด้วยเสมอ

2 ความเชื่อพื้นบ้าน
ความเชื่อพื้นบ้านนั้นเป็นความเชื่อที่มีปรากฏในท้องถิ่นต่างๆ และความเชื่อบางอย่างได้มีการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง “ลักษณะที่เห็นเด่นชัดของความเชื่อพื้นบ้าน คือการที่คนเชื่อถือโดยมิได้อ้างระบบเหตุผลเป็นพื้นฐาน ทั้งนี้มิได้หมายความว่าความเชื่อพื้นบ้านเป็นความเชื่อที่ขาดเหตุผล หากเราวิเคราะห์หาเหตุผลเบื้องหลังเราอาจจะพบเหตุผลที่แฝงเร้นอยู่
จากการศึกษาประเพณีสมโภชแม่โพสพ พบว่ามีความเชื่อพื้นบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ความเชื่อเรื่องดิถีฤกษ์ ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อเรื่องเคล็ดข้อห้ามต่างๆ ดังจำแนกประเภทได้ดังนี้
- ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์
ความเชื่อเรื่องดิถีฤกษ์ของคนไทย มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ การจะทำการมงคล จะต้องมีการดูฤกษ์ก่อนทุกครั้ง เพื่อกำหนดวันเวลาที่เหมาะแก่การประกอบพิธีมงคลนั้นๆ โดยไม่รีบด่วน เป็นการพิจารณาดูวัน เวลา สถานที่ บุคคล และสิ่งของเครื่องประกอบการทั้งหลาย โดยถี่ถ้วนว่าไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง เรียกว่า “ฤกษ์ดี” แต่ถ้าเห็นว่ามีอะไรบางอย่าง หรือหลายอย่างยังไม่พร้อมเรียกว่า “ฤกษ์ไม่ดี” ในการประกอบพิธีกรรมสมโภชแม่โพสพ อำเภอระโนด ได้กล่าวถึงการดูดิถีฤกษ์ในบทสวดทำขวัญ ไว้ว่า
...วันนี้วันดี เป็นศรีพระยาวัน แคล้วทรทึก ทักทินยมข้น
ลูกจักทำขวัญ จัดสรรของดี กล้วยอ้อยแตงกวา ถั่วงามากมี…
ในการเลือกวันทำการสมโภชแม่โพสพจะเลือกวันดีคือไม่ใช่วันทักทิน (ทับทิม) คือ วันและเดือนตามจันทรคติตรงกัน เช่น วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ส่วนใหญ่จะเลือกเอาวันดี เช่น วันพระ เป็นต้น

- ความเชื่อเรื่องการทำบัตรพลี
การประกอบพิธีกรรมสมโภชแม่โพสพ อำเภอระโนดเป็นการบวงสรวงบูชาแม่โพสพ เทพยดา หลายองค์ สะท้อนความเชื่อว่าทุกหนทุกแห่งมีสิงศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์รักษาอยู่ การกระทำการใดๆ ต้องมีความนอบน้อม ให้ความเคารพ มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดโทษการทำไร่นาไม่ประสบผลสำเร็จ จึงต้องมีการเซ่นสรวง บูชา ซึ่งทำให้ทั้งเทพยาดาและแม่โพสพพอใจ และจะอำนวยพร รวมทั้งปกปักรักษาให้การทำนาได้รับผลผลิตที่ดี ตัวอย่างดังนี้
การทำบัตรพลีก่อนการหว่านข้าว
...ลูกจักทำขวัญ จัดสรรของดี กล้วยอ้อยแตงกวา ถั่วงามากมี
...อีกทั้งพันธุ์ไม้ ลูกแต่งเอาไว้ ให้แม่ชมเชย ชุมเห็ดชุมแสง ชุมโพ่แม่เอย พันธุ์ไม้ยังเหลย ไม้หว้ากำชำ กล้วยอ้อยพรหมคต ลูกจัดไว้หมด รับแม่ตาตำ ย่านนางโพพิศ ด้ายแดงขาวดำ ย่านลิเพาประจำ รัดพุ่มพฤกษา ไม้ถบเป็นหลัก ทำกรอมแล้วปัก รับพระมารดา ...
- ความเชื่อเรื่องของมีค่าร่วมทำพิธี
การนำของมีค่าร่วมในพิธีกรรมนั้นเป็นการไหว้หรือบูชาครู และเทพยาดา เพราะเชื่อว่าการนำของมีค่าร่วมพิธีเป็นการแสดงความยกย่อง เทิดทูน และจะทำให้เกิดความพอใจ จะส่งผลทำให้พิธีกรรมมีประสิทธิภาพ และอานุภาพมากยิ่งขึ้น ความเชื่อเรื่องการนำของมีค่าในพิธีการสมโภชแม่โพสพ มีปรากฏ ดังนี้
การทำขวัญข้าว: อุปกรณ์ในพิธีกรรมการทำขวัญข้าว
...เงินทองแก้วแหวน ผูกมือถือแขน ข้างละคู่ทำขวัญ วัวดินแมงดา กุ้งปลาหลายพันธุ์ แต่งไว้ครบครัน...
- ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน โดยเฉพาะเรื่องเทพเจ้าเทวดา ตลอดจนถึงภูตผีปีศาจต่างๆ ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ซึ่งเป็นเทพยดาของศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อเหล่านี้ก็มีปรากฏอยู่ในตำราการทำขวัญข้าว ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในตำราการทำขวัญข้าวฉบับนี้ได้กล่าวถึงเทพยาดาท้องถิ่น เช่น พระแม่โพสพ แม่โพสี บริถิ้ว พระพุทธขิเนก พระพุทธขินาย สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อว่าสรรพสิ่งมีเทพยาดารักษาอยู่ การที่จะทำนาให้ได้ผลนั้นจะต้อง บอกกล่าว บูชา และอัญเชิญเทพยดาต่างๆ เพื่อให้อนุญาตและปกปักรักษา รวมทั้งคุ้มครองให้การทำไร่นาได้รับผลดี
การทำขวัญข้าว: บทเชิญ
....แม่นิลพูสี มาตุลีเทวา ทั้งแม่เหล็กกล้า แม่ไพศาลี…องค์พระมาตุลี นำแม่ข้ามา….


การเปลี่ยนแปลงของภูมิปัญญาจากอดีตสู่ปัจจุบัน

การสมโภชแม่โพสพเป็นภูมิปัญญาและพิธีกรรมที่ได้รับการสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนานของชาวนาในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จัดเป็นภูมิปัญญาสั่งสม ซึ่งแต่เดิมแต่ละครอบครัวจะประกอบพิธีกรรมเป็นการเฉพาะครอบครัว โดยเชิญหมอทำขวัญข้าวที่เคารพนับถือ หรือคนเฒ่าคนแก่ในตระกูล เป็นผู้ทำพิธี ในสมัยโบราณส่วนใหญ่ผู้นำตระกูล หรือผู้นำครอบครัวสามารถทำพิธีได้ เนื่องจากมีตำราสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ต่อมาเมื่อระบบการทำนาเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการทำเพื่อยังชีพเป็นการทำเชิงพาณิชย์มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการผลิตทำให้ภูมิปัญญานี้ลดน้อยลง ปัจจุบันจึงเกิดการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่โดยมีการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญา จากที่ทำเฉพาะครอบครัวก็ทำร่วมกันที่ศูนย์รวมจิตใจหรือสถานที่สำคัญคือวงเวียนแม่โพสพของอำเภอระโนด โดยทุกตำบลทุกหมู่บ้านในอำเภอระโนดจะรวบรวมข้าวแล้วนำมาทำพิธีร่วมกันโดยใช้หมอทำขวัญข้าวคนเดียว นอกจากนี้ในปัจจุบันยังนำพิธีสงฆ์เข้ามาด้วยเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้ร่วมพิธี จากนั้นชาวบ้านจะนำข้าวที่ผ่านพิธีสมโภชแล้วแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจะนำไปเก็บไว้เป็นสิริมงคล อีกส่วนหนึ่งจะนำไปหว่านพร้อมกับการหว่านข้าวครั้งต่อไปเพื่อให้แม่โพสพช่วยปกปักรักษาไร่นาต่อไป
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากในอดีตอีกประการหนึ่งคือ การเลือกวันเวลาในการทำพิธีหรือประกอบพิธีในสมัยก่อนจะเลือกเวลา “นกชุมรัง” หรือเวลาใกล้ค่ำ แต่ในปัจจุบันเลือกเวลาสะดวกคือเป็นช่วงกลางวันหลังจากพระสงฆ์ฉันอาหารเช้าแล้ว เป็นเวลาประกอบพิธี และส่วนใหญ่จะทำพิธีในเดือน 6 ถ้าเป็นข้างขึ้นมักจะทำในวันคี่ เช่น 13 ค่ำ 15 ค่ำ ถ้าเป็นเป็นข้างแรมใช้วันคู่ เช่น 8 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยทางเทศบาลตำบลระโนดจะเป็นเจ้าภาพในการกำหนดวันร่วมกับตัวแทนจากตำบลต่างๆ และหมอทำขวัญข้าว ซึ่งในอดีตหมอทำขวัญข้าวจะเป็นผู้กำหนดวันและขั้นตอนการทำพิธีแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้เนื่องจากเป็นพิธีที่มีผู้คนเข้าร่วมจำนวนมากเครื่องสังเวยในพิธีจึงมีปริมาณมากว่าในสมัยโบราณ และมีขนม อาหาร ผลไม้ ที่แตกต่างจากในอดีตเข้าร่วมพิธีด้วย เช่น แอปเปิ้ล สาลี่ เป็นต้น ส่วนเครื่องสังเวยหลักก็ยังคงเหมือนในอดีตทุกประการ

เอกลักษณ์ของภูมิปัญญาการสมโภชแม่โพสพ
พีธีสมโภชแม่โพสพของอำเภอระโนด นอกจากแสดงถึงเอกลักษณ์ทางด้านพิธีกรรมที่สืบสานและสืบทอดจากบรรพบุรุษแล้ว ในพิธีกรรมยังสอดแทรกความเชื่อ ความรู้ต่างๆ ไว้มากมาย เช่น
1. ภูมิปัญญาด้านภาษาศาสตร์ ในบทสวดการทำขวัญข้าวใช้ถ้อยคำง่ายๆ จะมีศัพท์บาลีสันสกฤต ส่วนใหญ่ที่เป็นบทสวดที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา เช่น บทบูชาพระรัตยตรัย และ ภาษาถิ่นใต้ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่องนี้จะเขียนเป็นสำเนียงใต้โดยใช้อักษรไทย เช่น ชุมโพ่ (ผรั่ง)แม่เอย พันธุ์ไม้ยังเหลย(ยังมี) เป็นต้น ซึ่งการบันทึกภาษาใต้เป็นลายลักษณ์อักษร นับเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาษาถิ่นใต้นี้ยังคงอยู่และสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

2. ภูมิปัญญาด้านวรรณคดี รูปแบบการประพันธ์ ผสมผสานทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง แม้จะเป็นร้อยแก้วก็มักจะมีคำคล้องจองกัน เช่น “ถ้าแม้นฝูงมนุษย์ทำผิดสิ่งอันใด ขออภัยให้ลูกน้อยที่ร้องเชิญอยู่เสียงแจ้วๆ อันเชิญขวัญแม่ที่สถิตอยู่เขาหลวง ขวัญแม่อย่าหนักหน่วงขัดขืนคำลูกอ้อนวอน” เป็นต้น ส่วนร้อยกรองแต่งด้วยบทประพันธ์ประเภทกาพย์ซึ่งเป็นที่นิยมของวรรรณกรรมท้องถิ่นในพื้นที่แถบนี้ กาพย์ที่ใช้แต่งคือ สุรางคนางค์ 28 (ราบ) เช่น
...วันนี้วันดี เป็นศรีพระยาวัน แคล้วทรทึก ทักทินยมข้น
ลูกจักทำขวัญ จัดสรรของดี กล้วยอ้อยแตงกวา ถั่วงามากมี...

3. ภูมิปัญญาด้านการเกษตร
- เป็นตำราบันทึกพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ในบทสวดการทำขวัญข้าวได้กล่าวถึงชื่อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองต่างๆ ไว้จำนวนมาก และเป็นพันธุ์ข้าวที่เคยปลูกกันในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ถือเป็นตำราจะบันทึกพันธุ์ข้าวเล่มหนึ่งของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้เลย และพันธุ์ข้าวบางพันธุ์ก็ยังมีการปลูกกันในปัจจุบัน เช่น ข้าวพันธุ์สังข์หยด ซึ่งนับเป็นพันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันเนื่องจากเป็นข้าวที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงโปรด ดังพระดำรัสความตอนหนึ่งว่า
"..สำหรับข้าวสังข์หยดนี้ข้าพเจ้าเพิ่งได้ไปพบที่จังหวัดพัทลุงเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และข้าพเจ้าได้นำกลับมาที่พระตำหนักทักษิณฯ แล้วหุง พอดีกับท่านนายกรัฐมนตรี เมตตาไปเยี่ยมข้าพเจ้าและท่านนายกก็รับประทานข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นข้าวซ้อมมือ แล้วนายกบอกว่าข้าวนี้อร่อย ทำให้ข้าพเจ้า มีกำลัง ใจมากและประชาชนทั้งหลายก็มีความภาคภูมิใจ นอกจากข้าวหอมมะลิ ก็ยังได้มีข้าสังข์หยดสีแดงๆ มีผู้ช่วยคิดนำข้าวกล้องหลายชนิดมาผสมกัน เพื่อหุง เป็นข้าวชนิดใหม่ที่อร่อยและมีคุณประโยชน์มากขึ้น..."

พระราชดำรัสในองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ชื่อพันธุ์ข้าวที่ปรากฏในตำรา
...พวงหวายลูกปลา นางขาวดำหอม ดอกยอมแมงดา ประทุมโสภา…

..หน่วยเขือนางกอง นางทองรวงรี จุกเทียนหอมดี ข้าวหยีรวงดำ
นางหอมประจำ ข้าวกระแจหอมหวาน ข้าวช่อไม้ไผ่ ไข่มดลิ้นคลาน...
4. ภูมิปัญญาด้านการสอดแทรกคำสอนทางพระพุทธศาสนา
การแสดงความเคารพ ความอ่อนน้อมต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในพิธีกรรมการทำขวัญข้าว จะสอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เรื่องมงคลสูตรว่า ความเคารพและความอ่อนน้อมเป็นมงคลสูตรสูงสุด เพราะความเคารพและอ่อนน้อมทำให้มนุษย์ลดทิฐิมานะ ความแข็งกระด้าง การที่ชาวนาได้ประกอบพิธีกรรมการทำขวัญข้าวเพื่อสดุดีและให้ความเคารพต่อพระแม่โพสพ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนโยนแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้มีพระคุณ และยังแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูกตเวทีของชาวนาต่อพระแม่โพสพที่ช่วยดูแลรักษาต้นข้าวและให้กำเนิดพืชพรรณธัญญาหารแก่มนุษย์ เพราะชาวนาเชื่อว่าผลผลิตที่ได้รับนั้นนอกจากเกิดจากแรงงานและความเพียรของตนเองแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากการดลบันดาลของพระแม่โพสพ
คุณค่าของภูมิปัญญาต่อผู้ปฏิบัติ ต่อสังคมและวัฒนธรรม
1 คุณค่าของภูมิปัญญาต่อผู้ปฏิบัติ
เป็นผลที่เกิดขึ้นทางด้านจิตใจ ด้านจิตนิสัยและด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวดังนี้
1.1 ผลทางด้านจิตใจ ผลทางด้านจิตใจ เป็นภาวะทางใจหรือความรู้สึกทางใจอย่างหนึ่ง ได้แก่ ความรู้สึกสบายใจ มีความมั่นใจ มีกำลังใจที่ได้กระทำในสิ่งที่ตนเชื่อถือ และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง เมื่อได้กระทำแล้วส่งผลให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวนี้ เช่น ชาวบ้านเชื่อว่าการประกอบอาชีพทำนาให้ประสพผลสำเร็จนั้น จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยคุ้มครองดูแลข้าวโดยเฉพาะ “แม่โพสพ” ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวิญญาณแห่งข้าว คอยคุ้มครองดูแลอำนวยความสมบูรณ์ให้ข้าวไว้เป็นอาหารเลี้ยงผู้คน จะต้องประกอบพิธีเซ่นสรวงทำขวัญแม่โพสพเพื่อให้แม่โพสพพึงพอใจและบันดาลให้ข้าวตกรวงงอกงามอุดมสมบูรณ์ ทำนาได้ผลมีข้าวกินตลอดปี ทำให้ชาวนามีความสุขความสบายใจมีกำลังใจในอันที่จะประกอบอาชีพทำนา แล้วยังมีความอิ่มเอมใจที่ได้สืบทอดประเพณีของบรรพบุรุษให้คงอยู่ตลอดไป
1.2 ผลทางด้านพฤติกรรม การปฏิบัติตามความเชื่อและพิธีกรรม ยังช่วยส่งเสริมและเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีแก่ผู้ปฏิบัติ การที่บรรพบุรุษนำความเชื่อมาใช้ประโยชน์โดยวิธีขู่ให้กลัวหรือหลอกให้กลัว นับว่าเป็นวิธีแยบคายมาก ความเชื่อบางอย่างอาจจะมองว่างมงายแต่ส่วนใหญ่มักมีเจตนาแอบแฝงอยู่ เพื่อประโยชน์ในการอบรมสั่งสอน ต่อมาจึงเกิดเป็นระเบียบสังคมที่ดีงามขึ้นซึ่งเป็นผลดีแก่ผู้ปฏิบัติ ดังนี้
จากการศึกษาด้านเอกสารและการสอบถามคนเฒ่าคนแก่พบว่า การทำของชาวอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีลักษณะความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวมากมายที่เป็นทั้งคำสอนที่ให้ปฏิบัติตามและเป็นข้อห้ามโดยอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่า ข้าวมีขวัญสิงอยู่ประจำไม่หลีกหนีไปไหน การกระทำใด ๆ ก็ตามที่เป็นการลบหลู่ดูหมิ่น ไม่รู้คุณของแม่โพสพ จะทำให้แม่โพสพเสียใจ น้อยใจ ขวัญที่สิงอยู่ประจำก็จะหลีกหนีหายไป การกระทำดังกล่าวเรียกว่า “*ขวัญข้าว” ความเชื่อของชาวบ้านที่เกี่ยวกับขวัญข้าวซึ่งเป็นข้อห้ามมีอยู่มากมาย เช่น

1. มิให้ตากข้าวกับกระด้ง
2. มิให้เอาข้าวสารกรอกหม้อในกระด้ง
3. มิให้เอากระด้งปิดปากครก
4. มิให้พาดสากบนปากครก
5. มิให้กรอกหม้อคว่ำ*ป้อยจนหมด*สาร
6. มิให้คว่ำป้อยไว้ใน*เผล้งสาร
7. มิให้คดข้าวจนจวักหัก
8. มิให้ตั้งหม้อข้าวไว้บนเตาไฟ
9. มิให้ตั้งเกลือบนฝามี
10. มิให้พาดจวักบนปากหม้อข้าวหม้อแกง
11. มิให้นวด ฝัดข้าวตรงประตูบันได
12. มิให้ตักข้าวเป็นบ่อตรงกลางหม้อข้าว
13. มิให้ตักหรือกันข้าวหกเรี่ยราด
14. ห้ามกินข้าวแหยะ
15. เก็บข้าวในนามิให้หล้อง
16. มิให้เลือกกากสารทิ้ง
* ขวัญข้าว หมายถึง ความเชื่ออย่างหนึ่งอันเกิดแก่การกระทำเยี่ยงลบหลู่หรือไม่รู้คุณของ
แม่โพสพ
* ป้อย หมายถึง ภาชนะทำด้วยกะลามะพร้าวขนาดเล็กใช้สำหรับตวงข้าวสารใส่
หม้อหุง
* สาร หมายถึง ข้าวสาร
* เผล้งสาร หมายถึง หม้อดินเผาขนาดใหญ่ใช้สำหรับใส่น้ำหรือข้าวสาร
* ฝามี หมายถึง ฝาหม้อข้าว
* แหยะ หมายถึง ข้าวที่กินเหลือในจากมาก ๆ
* หล้อง หมายถึง หลงหลือ
* กากสาร หมายถึง เมล็ดข้าวเปลือกที่สีหรือบดออกไม่หมดปะปนอยู่ในเมล็ดข้าวสาร
ผลจากความเชื่อเรื่องความมีตัวตนของพระแม่โพสพในฐานะเทพแห่งข้าวทำคนในสมัยก่อนใช้ประโยชน์จากความเชื่อนี้สั่งสอน อบรม ปลูกฝังจริยธรรมให้แก่ลูกหลาน หากพินิจพิเคราะห์แล้วจะพบว่าคำสอนหรือคำขู่เหล่านี้มีนัยแฝงอยู่ เช่น
1. มิให้ตากข้าวกับกระด้ง
มีความหมายเพื่อให้ลูกหลานรู้จักใช้ภาชนะที่เหมาะสม เนื่องจากกระด้งเป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่
ที่เหลาจนบางแล้วจึงนพมาสานเป็นภาชนะทรงกลมหากนำไปใส่ข้าวตากแดดก็จะทำให้กระด้งกรอบและพังในที่สุด จึงนิยมตากบนตาข่ายไนล่อน
2. มิให้เอาข้าวสารกรอกหม้อในกระด้ง เชื่อว่าจะทำให้แม่โพสพโกรธ
เป็นกุศโลบายสอนให้รู้ว่าถ้าเอากระด้งที่มีปากกว้างใส่ข้าวสารแล้วเทลงในหม้อหุงข้าวซึ่งปากเล็ก
กว่าจะทำให้ข้าวสารที่กว่าจะสีได้ต้องผ่านความลำบากมากมาย จะหล่นกระเด็นออกจากหม้อ จึงควรใช้ภาชนะที่ปากแคบกว่าหม้อ เช่น ป้อยข้าวสาร หรือกระป๋อง ในการเทข้าวสารลงในหม้อเพื่อหุง
3. มิให้เอากระด้งปิดปากครก
กระด้งเป็นภาชนะที่บอบบางใช้สำหรับฝัดข้าวหากนำไปวางบนปากครกซึ่งมีลักษณะลึกตรงกลาง
เพื่อใส่ข้าวแล้วตำ หากมีคนมานั่งทับโดยไม่ระวังก็จะทำให้กระด้งพังเสียหายได้
4. มิให้พาดสากบนปากครก
สอนให้รู้ว่าสิ่งของหรือภาชนะที่ใช้แล้ว ควรเก็บให้เข้าที่ให้เรียบร้อย การนำสากไปพาดไว้บน
ปากครกอาจทำให้สากหล่นลงพื้นเสียหาย หรืออาจจะสกปรกต้องเสียเวลาล้างทำความสะอาดและผึ่งแดดใหม่ หรือถ้าเด็กๆ วิ่งเล่นแล้วชนก็อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้
5. มิให้กรอกหม้อคว่ำ*ป้อยจนหมด*สาร
เป็นการสั่งสอนให้รู้จักความพอดีในการบริโภค มีความรอบคอบไม่ประมาท รู้จักสังเกตปริมาณ
ข้าวสารว่ามีเหลืออยู่เท่าไหร่ ถ้าเหลือน้อยก็จะได้หามาเพิ่มเติม ไม่ใช่รอจนข้าวสารหมดก่อนถึงจะหามาเติม หากลืมก็จะไม่มีข้าวสารหุงรับ
6. มิให้คว่ำป้อยไว้ในเผล้งสาร (หม้อดินเผาขนาดใหญ่ใช้สำหรับใส่น้ำหรือข้าวสาร,ถังข้าวสาร)
สอนให้รู้ว่าสิ่งของหรือภาชนะที่ใช้แล้ว ควรเก็บให้เข้าที่ให้เรียบร้อย เวลาใช้จะได้หยิบใช้อย่าง
สะดวก การคว่ำป้อยในเผล้งสาร บางครั้งอาจลืมเทข้าวสารทับลงไป ก็จะหาป้อยไม่เจอ ทำให้ไม่มีภาชนะตักข้าวสารใส่หม้อหุงข้าว เป็นต้น
7. คดข้าวจนจวักหัก
เป็นการสอนให้มีความระมัดระวังในการใช้สิ่งของ และมีความรอบคอบ มีสติทุกครั้งเวลาจะทำ
อะไร เพราะหากเสียหายไปแล้วก็จะทำให้เสียเวลาในการซื้อหาและเสียทรัพย์โดยประมาท
8. ตั้งหม้อข้าวไว้บนเตาไฟ
เป็นการสอนให้มีความรอบคอบ เนื่องจากเตาไฟแต่ก่อนเป็นเตาถ่าน หรือไม้ หากวางไว้แมวหรือ
สัตว์ก็จะมารบกวน เช่น กินข้าวในหม้อ หรือตะกุยจนหม้อหล่นลงได้รับความเสียหาย
9. ตั้งเกลือบนฝามี
เกลือหากหล่นลงในไฟก็จะเกิดการปะทุและสร้างอันตรายแก่คนที่อยู่ใกล้เตาไป เพราะฉะนั้นจึง
เป็นการสอนให้รู้จักความระมัดระวังเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น
10. พาดจวักบนปากหม้อข้าวหม้อแกง
สอนให้รู้จักวางของให้เป็นที่เป็นทาง เป็นคนมีระเบียบและมีสติ เนื่องจากการนพจวักวางไว้บนฝา
หม้อข้าวหม้อแกง จวักอาจจะหล่นลงในหม้อ ทำให้ต้องเสียเวลาในการหยิบขึ้นมาหรือต้องทำความสะอาดใหม่ เป็นต้น
11. มิให้นวด ฝัดข้าวตรงประตูบันได
บันไดบ้านเป็นทางเดินที่มีการผ่านเข้าออกอาจจะเป็นการกีดขวางทางเดินหรือทำให้การทำงานขาด
ความต่อเนื่อง ไม่มีสมาธิในการทำงาน เนื่องจากต้องคอบหลบคนที่ใช้บันได และบางครั้งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นที่ใช้บันไดเช่น เม็ดข้าวเข้าตา เป็นต้น
12. มิให้ตักข้าวเป็นบ่อตรงกลางหม้อข้าว
ต้องการสอนให้สำรวมกิริยามารยาท และรู้จักประมาณ การตักข้าวเป็นบ่อตรงกลาง คนที่มา
รับประทานทีหลังอาจจะรังเกียจ และดูไม่สมควร
13. มิให้ตักหรือกันข้าวหกเรี่ยราด
สอนให้เป็นคนระมัดระวัง รู้จักคุณค่าของอาหาร รู้จักใช้สติก่อนที่จะทำอะไร เพราะหากตักข้าว
หกเรี่ยราดไปก็จะสูญเสียประโยชน์รับประทานไม่ได้ เป็นการเพาะนิสัยเผลอเรอ ทำงานอย่างสะเพร่า
14. ห้ามกินข้าวแหยะ
เพื่อสอนให้รู้จักประมาณตน มีความพอดีในการบริโภคที่สมควรแก่กำลังและความต้องการ ข้าว
แหยะคือข้าที่ตักแล้วรับประทานไม่หมด ทำให้เสียของ เมื่อติดนิสัยนานเข้าก็จะเป็นคนทำงานจับจด ไม่เรียบร้อย
15. เก็บข้าวในนามิให้หล้อง(เหลือ)
เพื่อสอนให้เป็นคนระมัดระวัง มีความรอบคอบในการทำงาน ไม่ทำงานอย่างฉายฉวยทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นจะสังเกตได้ว่าเวลาเก็บเกี่ยวข้าวชาวนาจะไม่ค่อยคุยกัน จะตั้งหน้าตั้งตาเก็บ เก็บทุกรวงไม่ให้คลาดสายตา แม่แต่รวงใดข้าวคอตกหรือหักลงบนพื้นดินก็ต้องเก็บขึ้นมา ส่วนรวงไหนที่ใกล้จะสุกก็จะเก็บไปด้วยเพราะจะไปสุกเองเมื่อนำขึ้นลอม จะเว้นไว้เฉพาะข้าวเขียวเมื่อสุกก็จะหกลับมาเก็บอีกครั้ง หรือเมื่อเก็บหมดแปลงแล้วก็จะเดินดูข้าวที่ตกค้างอีกครั้งเพื่อให้ข้าวหมดในนาจริงๆ
16. มิให้เลือกกากสารทิ้ง
สอนให้รู้จักคุณค่าของข้าว กากสารคือข้าวสารที่สีไม่หมดยังมีเปลือกติดอยู่ ซึ่งยังสามารถสีหรือ
ตำเป็นข้าวสารได้อีก การทิ้งก็จะสิ้นเปลืองโดยไม่มีประโยชน์ ควรเก็บรวมไว้เมื่อได้มากก็นำไปสีใหม่อีกครั้ง

1.3 ผลทางด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ได้แก่ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ และลูก เป็นสัมพันธภาพที่ก่อให้เกิดความรักความเข้าใจ ความอบอุ่น พร้อมที่จะให้ความร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือกันในการทำมาหากิน การปฏิบัติตามความเชื่อและการประกอบพิธีกรรม จะช่วยส่งเสริมสัมพันธภาพภายในครอบครัวได้มากมายหลายอย่าง เช่น การทำขวัญข้าวเมื่อจัดให้มีพิธีกรรมเกิดขึ้น สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะต้องช่วยเหลือกัน ได้แก่การเตรียมสถานที่ จัดหาอุปกรณ์เครื่องใช้ในพิธี ติดต่อประสานงานกับหมอผู้ทำพิธี สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนสร้างสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัวและชุมชน นอกจากนี้ความเชื่อและพิธีกรรมยังเป็นสื่อในการปลูกฝังคุณธรรมให้เกิดติดตัวผู้ปฏิบัติและทุกคนในครอบครัวปฏิบัติต่อกันตามสถานภาพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นคตินิยมของชาวบ้านหลายประการ สอนให้มีความกตัญญู ให้รู้คุณค่าของข้าวหรือแม่โพสพ สอนให้เป็นคนละเอียดรอบคอบ รู้จักประหยัดเป็นคนเรียบร้อย คตินิยมนี้นับว่ายังทันสมัยอยู่เสมอ
2 คุณค่าต่อสังคมและวัฒนธรรม เป็นผลที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นกลุ่มพวกเดียวกัน มีการสืบทอด ภูมิปัญญา และเป็นการอบรมบ่มเพาะนิสัยที่ดีแก่สังคมดังนี้
2.1 ความรู้สึกเป็นกลุ่มพวกเดียวกัน แต่เดิมผู้คนส่วนใหญ่อยู่รวมกันในชุมชนที่อยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ในระบบเครือญาติและสังคม ที่สภาพแวดล้อมมีอิทธิพลทำให้ชุมชนที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกันต้องพึ่งพาอาศัยกันทางสังคม เศรษฐกิจ และการปกครอง จนเกิดความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นทางสังคมร่วมกัน จากการศึกษาพบว่าความเชื่อและพิธีกรรมยังช่วยหลอมรวมจิตใจของคนในสังคมให้เป็นหนึ่งเดียว ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ
2.2 การสืบทอดภูมิ ปัญญา เป็นการสืบทอดทางวัฒนธรรมหรือการนำมาประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม โดยเน้นในเรื่องความคิดและผลผลิตทางวัฒนธรรม มีการสืบทอดกันมาอย่างไม่ขาดสาย ความเชื่อและพิธีกรรมก็เช่นเดียวกัน จะมีขั้นตอน มีคำสอนหรือรายละเอียดการปฏิบัติที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เช่น การทำขวัญข้าว ซึ่งมีรูปแบบและพิธีกรรมที่เป็นเอกลักษณะเฉพาะ กล่าวคือมีเจตนาที่จะปลูกฝังคุณธรรมด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่ปฏิบัติฝึกฝนจนติดเป็นนิสัย เช่น ความกตัญญู ความขยันหมั่นเพียร ความประหยัด ความละเอียดรอบคอบ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า การทำขวัญข้าวเป็นการแสดงออกต่อแม่โพสพอย่างเป็นพิธีรีตรองมากที่สุด การทำขวัญข้าวในส่วนที่เป็นบทสวดหรือบททำขวัญ สาระสำคัญจะกล่าวถึงพิธีทำขวัญข้าว เครื่องมือเครื่องใช้ในพิธีตลอดจนชื่อพันธุ์ข้าวต่างๆ มากมาย บททำขวัญข้าวซึ่งประพันธ์เป็นบทร้อยกรอง เป็นผลงานของบรรพบุรุษที่บอกเล่าสืบต่อกันมาและเหมาะที่จะจดจำและนำไปถ่ายทอด นอกจากนั้นการแสดงออกถึงภูมิปัญญาชาวบ้านที่เป็นผลงานทางด้านความคิดและวิธีการปฏิบัติ ตลอดจนคิดค้นเทคนิควิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาเหล่านั้นด้วยวิธีการอันแยบยล ให้ผู้สืบทอดค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตามและเพิ่มพูนขึ้นจนกลายเป็นผู้สืบทอดให้แก่คนรุ่นต่อๆ ไป
2.3 การอบรมบ่มเพาะนิสัยที่ดีงามแก่สังคม ความเชื่อและพิธีกรรมเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านประเภทหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของชาวบ้าน ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆที่ปรากฏในพิธีทำนา เช่น แรกไถ แรกหว่าน แรกปักดำ แรกเก็บ ทำขวัญข้าว เป็นต้น ความเชื่อและพิธีกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างหรือปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีงามให้เกิดขึ้นแก่คนในสังคม เช่น ความกตัญญูรู้คุณ ความละเอียดรอบคอบ ความกระตือรือร้น ความประหยัดและความขยันหมั่นเพียร การปลูกฝังความเชื่อและพิธีกรรมให้ผู้คนได้ยึดถือปฏิบัติตาม และเพื่อให้เกิดการยอมรับของคณาญาติและสังคม การอบรมบ่มเพาะจึงค่อยเป็นค่อยไป มีลักษณะเป็นการตัดแต่งไม้อ่อนค่อยๆปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการ และค่อยๆทวีขึ้นจนกลายเป็นบุคคลที่สังคมปรารถนา
งานสมโภชแม่โพสพเป็นงานบุญที่ จัดขึ้นให้มีทุกปีในระหว่างเดือน 5 และเดือน 6 หลังจากที่ชาวบ้านเสร็จภารกิจการเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ดีงามของบรรพบุรุษไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ รับปฏิบัติและสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของคนรุ่นก่อนต่อไป

การถ่ายทอดองค์ความรู้และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในพื้นที่ใกล้เคียง

การถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญา
ในปัจจุบันได้มีการฟื้นฟูการทำขวัญข้าวในอำเภอระโนดและอำเภอใกล้เคียงได้ขึ้นมาอีกครั้ง ได้มีหน่วยงานและสถาบันการศึกษาให้ความสนใจและนำบุคลากรและนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมพิธี เพื่อศึกษาถึง ภูมิปัญญา และสืบสานภูมิปัญญานี้ให้อยู่คู่ท้องถิ่นต่อไป ซึ่งจาการศึกษาเบื้องต้นพบว่าในปัจจุบันภูมิปัญญานี้ยังมีการสืบทอดกันภายในตระกูล จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่สามารถทำพิธีกรรมนี้ได้จะมีอายุอยู่ในช่วง 50 ปีขึ้นไป

การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในพื้นที่ใกล้เคียง
ลักษณะองค์ความรู้เรื่องการสมโภชแม่โพสพแบบที่มีมาแต่เดิมนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นองค์ความรู้ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก ในแถบอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง เช่น ที่อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร ในจังหวัดสงขลา หรือ อำเภอหัวไทร อำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และ ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง อำเภอปากพะยูน ของจังหวัดพัทลุง จากการสอบถามพบว่าลักษณะของพิธีกรรมดั้งเดิมและการฟื้นฟูพิธีกรรมรูปแบบใหม่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน บางครั้งก็มีการเชิญหมอทำขวัญในต่างอำเภอที่อยู่ใกล้เคียงมาทำพิธี แม้แต่ในตำราการทำขวัญข้าว ของพื้นที่ต่างๆ เนื้อหาและขั้นตอนทั้งหมดน่าจะมาจากที่เดียวกันหรือเกิดจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างกัน อาจจะเป็นเพราะมีพื้นที่ใกล้เคียงกันและอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่าที่ลาบลุ่มทะเลสาบสงขลา หรือที่ลาบลุ่มปากพนังเหมือนกันก็ได้ และจากประวัติศาสตร์พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งแบบเครือญาติ และการค้าขาย เป็นต้น


แนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟูภูมิปัญญา : การพัฒนาภูมิปัญญาจากคุณค่าสู่มูลค่า
1. เสาะแสวงหาพันธุ์ข้าวที่ปรากฏอยู่ในคำทำขวัญข้าว เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวโบราณไม่ให้สูญหายไป เนื่องจากข้าวโบราณเหล่านี้เป็นพันธุ์ข้าวพื้นถิ่นที่เหมาะสมกับภูมิอากาศ สามารถสร้างมูลค่าได้เหมือนข้าวสังข์หยด โดยอาจจะปลูกแบบครบวงจร จัดจำหน่ายในรูปแบบข้าวโบราณซ้อมมือ เป็นต้น
2. สามารถสร้างการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน โดยผ่านพิธีกรรมการทำขวัญข้าว โดยอาจจะจัดการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจชมพิธีกรรมการทำขวัญข้าวแบบโบราณเพื่อสืบทอดวิถีชีวิตและเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เป็นต้น
3. ทำของที่ระลึก เลียนแบบอุปกรณ์การทำนา เช่น การทำแกะ (อุปกรณ์เก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งมีใช้เฉพาะบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา) หรือ ทำคันไถ ทำเลียงข้าว (ด้วยดินหอม) ทำลอมข้าว (ด้วยดินหอม) จำหน่าย หรือปั้นสัตว์เทียมเครื่องไถนา จำหน่ายเพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาและรูปแบบการทำนาในอดีตแก่นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไป

ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการสมโภชแม่โพสพของอำเภอระโนด จังหวัดสงขลานี้ สะท้อนให้เห็นความ
สัมพันธ์ระหว่างคนในท้องถิ่นเดียวกัน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงเป็นกระบวนการทางความคิดในการสร้างแบบแผนการดำเนินชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจจิตใจของคนให้มั่นคง เข้มแข็ง เกิดความสบายใจและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ให้สามารถอยู่รวมกันได้อย่างมั่นคงปลอดภัย และสงบสุข ข้อสำคัญ ภูมิปัญญาท้องถิ่นยังสามารถทำประโยชน์เพื่อการดำรงชีพ โดยสามารถโยงใยไปสู่การทำเป็นอาชีพ จนกลายเป็นอาชีพอย่างมั่นคงเพื่อส่งขายให้ทั้งภายในและต่างประเทศ นำมาซึ่งรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น